เรารักสุพรรณ สถานที่ท่องเที่ยวสุพรรณบุรี

นายซายซาย ไกด์ชาวพม่า และความรู้เกี่ยวกับพม่า

     พวกเรานั่งเครื่องบินมาจากสนามบินดอนเมืองดอนเมืองประเทศไทย ตูดยังไม่ทันร้อน เผลอเดี๋ยวเดียว ก็ได้ยินเสียงบอกมาทางลำโพงของเครื่องบิน ว่าขณะนี้เครื่องบินมาถึงประเทศพม่าแล้ว และกำลังลดความสูง จะลงจอดที่สนามบินนานาชาติของประเทศพม่า คือสนามบิน มิงกาลาดง ขอให้ท่านรัดเข็มขัดกับที่นั่งของท่านด้วย ในทำนองนี้

     อีกไม่กี่นาทีต่อมาล้อของเครื่องบินก็แตะกับรันเวย์ของสนามบิน เท่ากับพวกเรามาถึงประเทศพม่าโดยปลอดภัยแล้วครับ ที่สนามบิน มิงกาลาดง ของพม่ามีคนไม่พลุกพล่านมากนัก ไม่เหมือนกับที่สนามบินดอนเมือง ซึ่งมีผู้คนหนาแน่นมาก

     พวกเราผ่านการตรวจคนเข้าเมืองกันทุกคนแล้ว ก็ไปรับกระเป๋าเดินทางที่รางเลื่อนกระเป๋า ก็ต้องคอยดูว่ากระเป๋าของเราใบไหนที่กำลังเลื่อนมา

     ผ่านทุกอย่างหมดแล้ว ไกด์ที่มาด้วยกันจากเมืองไทยเป็นสุภาพสตรีชื่อ คุณปอร์ ซึ่งตามมาคอยอำนวยความสะดวกให้คณะของเราตลอดการมาเที่ยวพม่าในครั้งนี้ ก็พามาที่นอกห้องของสนามบินซึ่งอยู่ด้านหลัง มารวมตัวกันทุกคนแล้ว ไกด์ผู้หญิงก็ได้อธิบายเรื่องต่างๆ ที่เราจะเดินทางกันในวันนี้ โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย และข้อห้ามต่างๆที่อยู่ในเมืองพม่า

ไปเที่ยวพม่า เจดีย์กลางน้ำเลย์ พญาแห่งเมืองสิเรียม

กำลังมารวมตัวกันที่สนามบิน หลังจากลงจากเครื่องบิน และผ่านการตรวจต่างๆแล้ว

     ไกด์ผู้หญิงของเรากำลังชูป้าย สีเขียวๆให้รู้ว่ามารวมตัวกันที่ตรงนี้ ประเดี๋ยวเดียวก็มีชายคนหนึ่งเดินแบบรีบๆถือธงสีเขียว เข้ามาหาคณะของเรา เขาเป็นชายวัยประมาณ 45 ปี แต่งตัวแบบชาวพม่า คือนุ่งโสร่ง และสวมเสื้อขาวๆแบบพม่า

     ไกด์คนไทยบอกว่าคนๆนี้แหละคือไกด์ชาวพม่า ซึ่งพูดภาษาไทยได้ และจะเป็นผู้นำในการท่องเที่ยวของพวกเราเที่ยวนี้ทั้งหมดจนถึงวันกลับ เขาจะอยู่กับพวกเราตลอดการท่องเที่ยวในพม่านี้ ไกด์พม่าเป็นคนหน้าตาดี ยิ้มแย้มอยู่เสมอ

     ไกด์ผู้หญิงบอกพวกเราว่า ต่อจากนี้ไปเขาก็จะส่งมอบนักท่องเที่ยวคือพวกเรานี้ให้อยู่ในความดูแล ของไกด์พม่าคนนี้ตลอดไป

     ไกด์ชาวพม่าไม่พูดพร่ำทำเพลงเลยละครับ ถือธงสีเขียวๆเดินนำพวกเราไปขึ้นรถบัสค้นหนึ่ง ซึ่งจอดรอพวกเราอยู่ในที่จอดรถของสนามบิน แล้วพยักหน้าพาพวกเราเดินไปขึ้นรถที่ติดเครื่องยนต์จอดรออยู่ ต่างคนต่างก็หาที่นั่งตามแต่จะชอบตรงไหน แล้วที่นั่งตรงที่เราเลือกนั่งในครั้งแรกนี้ เราก็จะนั่งตรงนี้ตลอดไปจนกระทั่งวันกลับ เพราะว่าการเดินทางมาเที่ยวพม่านี้ ส่วนใหญ่ก็จะนั่งรถเสมอ เพราะว่าสถานที่เที่ยวแต่ละแห่งนั้นอยู่ห่างไกลกันมาก

     เรียบร้อยกันหมดแล้ว รถก็เริ่มเคลื่อนที่ออกเดินทาง ไกด์คนพม่านั้นตั้งแต่พบกันก็ยังไม่ได้เอ่ยปากคุยอะไรสักคำ พอขึ้นรถแล้วก็แนะนำตัวทันที

ไปเที่ยวพม่า เจดีย์กลางน้ำเลย์ พญาแห่งเมืองสิเรียม

ไกด์นำเที่ยวในพม่าของคณะเรา กำลังเดินไปประจำที่ข้างหน้ารถใกล้ๆคนขับ เพื่อทักทายและอธิบายเรื่องต่างๆของประเทศพม่า

ไปเที่ยวพม่า

 ไปเที่ยวพม่า เจดีย์กลางน้ำเลย์ พญาแห่งเมืองสิเรียมไปเที่ยวพม่า เจดีย์กลางน้ำเลย์ พญาแห่งเมืองสิเรียม

เมื่อรถเคลื่อนที่เริ่มออกเดินทางท่ามกลางความตื่นเต้นของพวกเรา ที่เวลานี้ได้อยู่ในประเทศพม่าแล้ว รถเริ่มวิ่งไปเพื่อไปเที่ยวตามตารางที่เขาจะพาไป นายซายซาย หรือนายหนุ่มซึ่งอยู่ที่เบาะด้านหน้าคู่กับคนขับ ก็กล่าวสวัสดีกับลูกทัวร์ทั้งหลายทันทีว่า

“มิงกะลาบา”

พร้อมกับแนะนำตัวเองเสียยืดยาวด้วยภาษาไทย ว่า

"ยินดีที่ได้รู้จักพวกท่านทุกคนครับ ผมชื่อนายซายซาย (ต้องเรียกติดต่อกันไม่เว้นวรรค ) ผมมีชื่อเล่นว่า หนุ่ม ครับ จะเรียกผมว่าหนุ่มก็ได้ " แล้วยิ้มแย้มแจ่มใส แล้วก็เล่าประวัติตัวเองอย่างยืดยาว ผสมมุขตลกให้พวกเราซึ่งนั่งอยู่ในรถได้ ขำๆ ฮาๆกันเป็นที่ครึกครื้น

นายซายซายเป็นคนมีอารมณ์ดี พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว ผมว่าพูดชัดและรู้เรื่องกว่าคนไทยบางคนเสียอีก และมีอารมณ์ขันไปในตัวด้วย

เมื่อแนะนำตัวเองเสร็จแล้ว สิ่งแรกที่เขาบอกพวกผมคือ เรื่องภาษาพม่า ที่เขาอยากจะให้พวกเรารู้นิดหน่อยพอเป็นสังเขป เพื่อจะให้พวกเราที่มานี้สนุกและเป็นกันเองกับคนพม่าด้วย

นายซายซายบอกว่า ภาษาพม่า เป็นภาษาที่แตกต่างกับภาษาไทยอย่างสิ้นเชิง (ไม่เหมือนภาษาลาวที่พวกเราพอฟังออก) สิ่งที่ควรรู้เป็นอันดับแรกในภาษาพม่า ก็คือคำว่า

มิงกาลาบาแปลเป็นไทยว่า สวัสดีครับ คำนี้จะใช้ได้ตลอดวัน ไม่ว่าเวลาใด เช้า สาย บ่าย ค่ำ ดึกดื่นแค่ไหน เจอหน้ากันก็จะ มิงกาลาบา

ซึ่งไม่เหมือนของไทย และชาติอื่นๆ ซึ่งเขาจะสวัสดีกันโดยเปลี่ยนไปเป็นเวลาๆ

เจซูติน บาแด: ขอบคุณมาก,

ควินโละ บ่าหน่อ: ขอโทษ,

ตาตา: ลาก่อน

นายซายซายแกสอนพวกผมมากกว่านี้ครับ เพื่อเป็นประโยชน์แก่พวกผมในการมาเที่ยวที่เมืองของเขาจะได้สนุกครึกครื้นและมีความสุขในขณะที่อยู่ในบ้านเมืองของเขายิ่งขึ้น

แต่ขออภัยเถอะครับ ผมและพรรคพวกก็ได้แค่มิงกาลาบาเท่านั้นแหละ อย่างอื่นๆลืมหมดเลยครับ

นายซายซายได้คุยกับพวกเราอย่างเป็นกันเอง ตามประสาไกด์ที่ดี เล่าบอกในเรื่องเล็กๆน้อยของพม่าอย่างละเอียด ใครมีอะไรที่สงสัยก็ถามได้ ไม่ว่าจะเวลานี้หรือเวลาไหน เพราะว่าเราจะต้องอยู่ด้วยกันตลอดในสามวันที่เมืองพม่านี้

ในขณะที่รถกำลังวิ่งผ่าน บ้านเรือนชุมชนต่างๆ นายซายซายก็บอกเรื่องที่ควรจะทราบ เช่น

   “หวังว่าในขณะที่รถวิ่งที่ท้องถนนนี้ พวกคุณคงเห็นแล้วว่า รถวิ่งชิดทางด้านขวาของถนน พวงมาลัยของรถจะอยู่ทางซ้ายมือของรถไม่เหมือนที่เมืองไทยนะครับ  ”

นายซายซายกล่าว ในขณะที่ทุกคนหันไปมองที่ถนน ที่รถยนต์วิ่งกันขวักไขว่

ไปเที่ยวพม่า เจดีย์กลางน้ำเลย์ พญาแห่งเมืองสิเรียม

   “ ที่พม่านี้รถยนต์ทุกคันมีป้ายทะเบียนรถเหมือนๆกับไทยและทุกประเทศทั่วโลก “

นายซาย ซายกล่าว แล้วมองมายังพวกเราเหมือนจะถามว่าใครมีอะไรที่จะภามหรือเปล่า

   “แต่ป้ายทะเบียนรถที่พม่านี้ จะไม่เหมือนของเมืองไทยนะครับ ”  นายซายซายหยุดพูดนิดหนึ่ง แล้วชี้ไปที่รถยนต์รถยนต์คันหนึ่งที่กำลังวิ่งนำหน้ารถของเราไปข้างหน้า

   “รถยนต์คันที่วิ่งไปข้างหน้านี้ ติดป้ายแดงตัวหนังสือสีขาว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นรถป้ายแดงที่เพิ่งซื้อมาใหม่ๆนะครับ แต่เป็นรถแท็กซี่นั่นเอง ” นายซายซาย ชี้ให้ดูรถกระบะบรรทุกอีกคันหนึ่งซึ่งวิ่งแซงเราไป

ไปเที่ยวพม่า เจดีย์กลางน้ำเลย์ พญาแห่งเมืองสิเรียม

  “ รถกระบะบรรทุกคันนั้น “ พร้อมกับชี้มือ

 “ก็ป้ายแดงเหมือนกัน ทั้งๆที่เก่าแล้วและเป็นรถบรรทุก อันนี้คุณต้องเข้าใจนะครับ สรุปแล้วรถที่รับจ้างทุกคัน ไม่ว่าจะเป็นรถใหญ่รถเล็กที่เข้าลักษณะรับจ้าง จะต้องติดป้ายแดงทั้งนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับรถใหม่ที่เพิ่งซื้อประการใด ” 

นายซายซาย หยิบน้ำขวดขึ้นมาดื่มอีกใหญ่ แล้วพูดต่อ

   “ส่วนรถส่วนบุคลเขาจะติดป้ายทะเบียน สีดำ ตัวหนังสือขาว นั่นคือรถส่วนตัวไม่ใช่รถรับจ้างครับ”

   “ป้ายทะเบียนรถของพม่านี้มีอีกหลายอย่างครับ ”

นายซายซายบอก เอาเป็นว่า รถยนต์ที่พม่านี้จะติดป้ายดังนี้นะครับ

รถส่วนบุคคล ป้ายทะเบียนสีดำ ตัวหนังสือสีขาว

รถนำเที่ยว ป้ายทะเบียนสีฟ้า ตัวหนังสือสีขาว

รถวัด ป้ายทะเบียนสีเหลือง

รถแท็กซี่ ป้ายทะเบียนสีแดง ตัวหนังสือสีขาว

ไปเที่ยวพม่า เจดีย์กลางน้ำเลย์ พญาแห่งเมืองสิเรียม

 ที่สี่แยกแห่งหนึ่งในเมืองย่างกุ้ง รถคันที่แซงเราไปเป็นรถส่วนบุคคลซึ่งป้ายทะเบียนสีดำ ตัวหนังสือสีขาว

รถแท็กซี่ ในพม่า ส่วนใหญ่จะไม่เปิดแอร์ (จริงๆ ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรนะเพราะอากาศดีอยู่แล้ว) แต่ถ้าต้องการให้เขาเปิดแอร์ ก็เพิ่มค่าบริการให้สักเล็กน้อย นายซายซายพูดพร้อมกับหัวเราะ แล้วพูดต่อ

"ค่าแท็กซี่ในพม่าขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรอง เริ่มต้นที่ประมาณ 1,500 จั๊ต (ประมาณ 45 บาท) และเราควรศึกษาเส้นทางก่อนเรียกใช้บริการแท็กซี่ในพม่านะครับ "

"  แท็กซี่ในพม่าไม่เลือกค่ายรถนะครับ ดังนั้นไม่แปลกอะไรที่จะเห็น Honda Jazz และยี่ห้ออื่นๆที่ดังๆที่เราคุ้นเคยในเมืองไทย ก็เป็นแท็กซี่ในพม่า

ในย่างกุ้ง ไม่ค่อยเห็นรถมอเตอร์ไซค์ หรือ จักรยานนะครับ แปลกดีเหมือนกัน รถกระบะแบบบ้านเรา ก็ไม่เห็น มีก็เป็น มินิทรัค ไปเลย รถประจำทางในพม่า จะไม่มีแบบปรับอากาศนะครับ แม้แต่ในย่างกุ้ง และจะสังเกตได้ว่า คนแน่นทุกคัน รถสองแถว วินมอเตอร์ไซค์ วินรถตู้ ไม่มีให้เห็น "

 นายซายซาย อธิบายเสียยืดยาว

 นายซายซาย บอกว่าอีกว่า

"สิ่งสำคัญที่ควรรู้ในตอนที่เราอยู่ที่พม่านี้ คือเรื่องเงินของพม่า"

“ ที่พม่าจะไม่มีการใช้เหรียญนะครับเพราะว่าเขาไม่ได้ทำเหมือนเมืองไทย ธนบัติที่นิยมใช้อยู่ 100 จั๊ต (เริ่มหายาก และสภาพเก่ามาก เพราะไม่พิมพ์เพิ่มแล้ว ) 500 จั๊ต, 1000 จั๊ต, 5000 จั๊ต ราคาสินค้ายังมีเศษที่ต่ำกว่า 100 จั๊ต เช่น 470 จั๊ต 540 จั๊ต คำถามคือ แล้วจะทอนกันยังไง “

 นายซายซายกล่าวแล้วยกขวดน้ำขึ้นมากรอกเข้าปากอีกอึกใหญ่ แล้วกล่าวต่ออีกว่า

 “ ก็ง่ายๆ ครับ คือ ไม่ทอน ฮ่า ฮ่า ฮ่า “  นายซายซาย หัวเราะอย่างอารมณ์ดี

 “เช่น ถ้าคุณซื้อของราคา 470 จั๊ด แล้วคุณจ่ายแบงค์ 500 จั๊ด ที่จริงต้องทอน 30 จั๊ด แต่คุณอาจจะได้ใบเสร็จราคา 470 จั๊ด แต่เงินทอน 30 จั๊ดไม่ได้นะครับเขาจะไม่มีตังค์ทอนให้ “

 “ แต่ไม่ต้องตกใจหรอก เพราะเค้าก็ไม่รู้จะหาเงินทอนที่ไหนมาทอนคุณเหมือนกัน บางร้านอาจจะใจดีให้ลูกอมแทนเงินทอนแค่นั้นก็จบ เรื่องนี้ต้องทำใจนะครับอย่าคิดอะไรมาก “ แล้วนายซายซายก็หัวเราะลงลูกคอเอิ๊กอ๊ากอย่างอารมณ์ดี มองเห็นฟันทองที่เลี่ยมเอาไว้ทางมุมปากด้านขวาเหลืองอร่าม

 “อีกเรื่องคือเรื่องภาษี ราคาสินค้าในห้างบางห้าง บางรายการ ราคาอาจจะยังไม่รวมภาษีภาษีนะครับ คุณอาจจะโดนชาร์จภาษี ณ จุดชำระเงิน ก็อย่าหงุดหงิดนะครับ”  

นายซายซายอธิบายเรื่องต่างๆในพม่าต่อไปอีกอย่างยืดยาว

เรื่องเงินของพม่านี้ โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเรามาจากเมืองไทยก็พกเงินบาทมาทั้งนั้น แต่อาจจะมีบางคนที่แลกจากเงินบาทเป็นเงินจั๊ดของพม่าแล้ว แต่เท่าที่เห็นก็มีน้อยคน ส่วนใหญ่ก็จะมาแลกเงินเอาที่พม่าทั้งนั้น เมื่อตอนที่ขึ้นรถกันแล้วนั้น นายซายซายเขาจะถามว่ามีใครต้องการแลกเงินบ้าง เพื่อความสะดวกไกด์จึงได้เตรียมเงินมาให้แลกด้วย โดยคิดอัตราการแลกคือ 1 บาทไทยเท่ากับ 30 จั๊ด แลก 1,000 บาทก็เท่ากับ 30,000 จั๊ด ซึ่งก็เหมาะสมดี อัตราการแลกเงินนั้นไม่แน่นอนในแต่ละวัน แต่ในวันที่ผมไปนั้นก็อยู่ในอัตรานี้ครับ

ไปเที่ยวพม่า เจดีย์กลางน้ำเลย์ พญาแห่งเมืองสิเรียม

 

ไปเที่ยวพม่า เจดีย์กลางน้ำเลย์ พญาแห่งเมืองสิเรียม

เงินไทย 1,000 บาท แลกกับไกด์ชาวพม่า จะได้ 30,000 จั๊ด แลกในขณะที่กำลังเดินทางอยู่บนรถ

เมื่อเราได้แลกเงินกับไกด์แล้วก็เป็นอันหมดปัญหาในเรื่องเงิน และจะซื้ออะไรก็คล่องตัวยิ่งขึ้น รถบัสทัวร์ที่บริษัททัวร์จัดไว้ให้ คันใหญ่พอสมควรแต่เป็นรถชั้นเดียว ไม่ได้เป็นรถบัสขนาดใหญ่ที่มีสองชั้น แต่ก็นั่งสบาย คนขับก็ขับด้วยความชำนาญยิ่งนัก 

ในจุดแรกที่เขาจะพาเราไปเที่ยวในตอนนี้เสียก่อน ก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของพวกนักท่องเที่ยวทั้งหลาย ที่บริษัททัวร์มักจะจัดอยู่ในโปรแกรมของเขา ที่แห่งนั้นคือ เจดีย์กลางน้ำที่มีชื่อว่า เจดีย์เยเลพญา เป็นเจดีย์กลางน้ำที่สร้างขึ้นมานับเป็นพันๆปีแล้ว แห่งเมืองสิเรียม

ตอนนี้กำลังเดินทางไป เราไปเที่ยวกันนะครับ 

 

ติดตามตอนต่าง ๆ ของเรื่อง "ไปเที่ยวพม่า" ได้ตามลิงค์ข้างล่างครับ

 

 share sija