เรารักสุพรรณ สถานที่ท่องเที่ยวสุพรรณบุรี

กิจกรรมที่น่าสนใจ ในสุพรรณบุรี

งานแห่เทียนพรรษา สุพรรณบุรี 2561

     งานแห่เทียนพรรษา จังหวัดสุพรรณบุรี ในปี 2561 นี้ ทางจังหวัดสุพรรณบุรี จะจัดให้มีพิธีแห่เทียนพรรษา (ขบวนแห่เทียนพรรษา) ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2561  ...

ถนนหรรษา วินยานุโยค อู่ทอง สุพรรณบุรี

     "ถนนหรรษา วินยานุโยค" จัดขึ้นโดย สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7) ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ ชาวบ้านชุมชนศรีสรรเพชญ์พัฒนา ชุมชนต้นแจงพัฒนา และชุมช...

วัดหน่อพุทธางกูร สุพรรณบุรี

วัดหน่อพุทธางกูร ตั้งอยู่ที่ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ห่างจากตัวเมืองสุพรรณบุรีมาทางทิศเหนือราว ๓ กิโลเมตร no image

สาระสำคัญ

     วัดหน่อพุทธางกูรนี้ สร้างขึ้นในสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ เมื่อคราวกบฏเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ.2369 ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ และได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นในบริเวณที่มีฐานอุโบสถเก่าอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่สามารถสืบหาอายุได้ว่าสำนักสงฆ์นี้สร้างขึ้นในปีใด ต่อมาขุนพระพิมุขข้าหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มาสร้างเป็นวัดขึ้น ให้ชื่อว่า "วัดมะขามหน่อ" จนกระทั่งในสมัยพระครูสุวรรณวรคุณ (คำ จนทโชโต) เป็นเจ้าอาวาสจึงได้เปลี่ยนชื่อวัดนี้เป็น "วัดหน่อพุทธางกูร"

     พระอุโบสถเก่าของวัดที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากลักษณะของฐานที่แอ่นโค้งแบบท้องเรือสำเภาอันเป็นรูปแบบที่นิยมมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย จิตรกรรมของวัดนี้เขียนอยู่ภายในและภายนอกพระอุโบสถ ผู้เขียนคือ นายคำ ช่างหลวงที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์เมื่อคราวกบฏเจ้าอนุวงศ์

พระอุโบสถวัดหน่อพุทธางกูร

          ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอุโบสถ เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐถือปูนขนาด 3 ห้อง ด้านหน้าโบสถ์มีมุขยื่นออกมามีเสารองรับอยู่ 4 ต้น หน้าบันและส่วนประดับต่าง ๆ เป็นไม้จำหลักงดงามมาก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาปลายมน ฐานอาคารแอ่นโค้งเป็นรูปท้องเรือสำเภา ซึ่งเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานได้ว่า เดิมวัดมะขามหน่อนี้ อาจเป็นวัดเก่ามีมาแล้วตั้งแต่
สมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมาชาวบ้านบริเวณวัดมะขามหน่อ ได้บูรณะขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

วัดหน่อพุทธางกูร สุพรรณบุรี

          ด้านหน้าและภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมซึ่งงดงามมาก มีนายคำชาวเวียงจันทน์เป็นช่างเขียน นายคำถูกกวาดต้อนมาในสมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์ นายคำมีพี่น้องอยู่ด้วยกัน 3 คน แต่พลัดพรากจากกัน เมื่อตอนเดินทางเข้ามาอยู่เมืองไทย ตัวนายคำได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ในฐานะที่เคยเป็นช่างเขียนมาก่อนเมื่อมาอยู่กรุงเทพฯ นายคำจึงถูกเกณฑ์ให้มาเขียนภาพที่วัดสุทัศน์ หลังจากที่เขียนภาพที่วัดสุทัศน์เสร็จเรียบร้อยแล้ว นายคำพยายามออกตามหาพี่น้องของตนที่มาจากเวียงจันทน์ด้วยกัน และสืบทราบได้ว่าพี่น้องของตนมาอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี จึงติดตามมาหาพบอยู่ที่ตำบลพิหารแดง พอดีขณะนั้นชาวบ้านวัดมะขามหน่อได้ก่อสร้างอุโบสถเสร็จจะเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง นายคำจึงรับอาสาจะเขียนให้และได้ให้นายเทศ ซึ่งเป็นลูกเขยที่กรุงเทพฯ มาช่วยเขียนภาพด้วยอีกคนหนึ่ง เมื่อเขียนภาพที่วัดหน่อพุทธางกูรเสร็จเรียบร้อยแล้ว นายคำยังได้ไปเขียนภาพที่อุโบสถวัดประตูสาร ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีอีกด้วย

ภาพจิตรกรรมที่ผนังด้านนอกอาคาร

          ปัจจุบันเหลือหลักฐานที่ซุ้มประตูทางเข้า ซึ่งน่าจะขียนยังไม่เสร็จ เพราะยังปรากฏภาพร่างลายเส้นดินสอดำ เขียนเป็นภาพต้นนารีผล ส่วนภาพจิตรกรรมภายในอุโบสถ เขียนที่ผนังทั้ง 4 ด้าน เรื่องพุทธประวัติ ทศชาติชาดก พระเจดีย์จุฬามณี และเทพชุมนุม

ลักษณะโครงสร้างและการลำดับเรื่องราว

           ลักษณะการวางภาพจิตรกรรมที่ผนังด้านทิศเหนือและใต้ มีรูปแบบที่เหมือนกันคือ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนบน อยู่เหนือกรอบหน้าต่าง เป็นเรื่องเทพชุมนุม ส่วนที่สอง  อยู่ระดับเดียวกับช่องหน้าต่างเป็นเรื่องเกี่ยวกับทศชาติชาดก การดำเนินเรื่องเริ่มจากผนังด้านทิศเหนือต่อเนื่องมาผนังด้านทิศตะวันออก และทิศใต้ ส่วนล่าง   อยู่ในสภาพลบเลือน ส่วนผนังด้านทิศตะวันตกและตะวันออกเป็นเรื่องพุทธประวัติ เทพชุมนุม และเจดีย์จุฬามณี

ภาพจิตรกรรม

          ภาพจิตรกรรมที่อุโบสถวัดหน่อพุทธางกูรเป็นจิตรกรรมแบบไทย ภาพจิตรกรรมระบายสีแบนเรียบ ด้วยสีสันสดใสแล้วตัดเส้น เป็นภาพสองมิติที่ให้ความรู้สึกเพียงด้านกว้างและด้านยาว เนื้อเรื่องที่เขียนเป็นเรื่องราวในพุทธศาสนา มีทั้ง ทศชาติชาดก พุทธประวัติ เทพยดาต่าง ๆ และเรื่องราวในไตรภูมิ ซึ่งเป็นที่นิยมโดยทั่วไปในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

วัดหน่อพุทธางกูร สุพรรณบุรี

     อุโบสถวัดหน่อพุทธางกูรนี้ มีการเขียนภาพจิตรกรรมทั้งด้านนอกและด้านในของอาคาร ด้านนอกบริเวณประตูทางเข้าอุโบสถเป็นรูปพระเจดีย์จุฬามณี ช่างใช้เทคนิคประติมากรรมผสมจิตรกรรม ทำเป็นซุ้มปูนปั้นเหนือประตูทางเข้าแทนพระเจดีย์จุฬามณี แล้วใช้จิตรกรรมเขียนตกแต่งประกอบ ชั้นบนสุดของฝาผนังเป็นรูปคนธรรพ์ วิทยาธรเหาะมุ่งหน้าเข้าหาพระเจดีย์จุฬามณี ทางด้านซ้ายเจดีย์เป็นภาพต้นนารีผล มีนักสิทธ์และวิทยาธรกำลังชื่นชมและเก็บผล จิตรกรรมฝาผนังที่ประตูด้านหน้าอุโบสถนี้ ช่างยังเขียนภาพไม่เสร็จดี

     ผนังทางด้านขวาของเจดีย์ยังเป็นผนังเปล่าและส่วนใหญ่เป็นภาพร่างด้วยดินสอสีดำ ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากประวัติการเขียนภาพที่ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมา ระบุว่า นายคำช่างเขียนภาพเขียนภาพที่วัดหน่อพุทธางกูรก่อน แล้วจึงไปเขียนภาพที่วัดประตูสารต่อ หากช่างยังเขียนภาพที่วัดหน่อพุทธางกูรไม่แล้วเสร็จเหตุใดจึงไปเขียนภาพที่วัดประตูสาร อาจเป็นไปได้ว่าช่างเขียนเขียนภาพที่วัดประตูสารก่อน แล้วจึงมาเขียนภาพที่วัดหน่อพุทธางกูรต่อ แต่มีเหตุบางอย่าง ทำให้เขียนภาพที่วัดหน่อพุทธางกูรไม่เสร็จ หรือภาพจิตรกรรมที่ผนังด้านนอกอุโบสถวัดหน่อพุทธางกูร เขียนขึ้นเพิ่มเติมในภายหลังจากที่นายคำเขียนภาพจิตรกรรมในอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ช่างที่เขียนภาพใน
ภายหลังเขียนไม่สำเร็จ

     ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมเขียนอยู่บนผนังทุกด้าน ฝ้าเพดานทาชาดประดับลายเขียนสีรูปดาวเพดาน บานประตูหน้าต่างทาชาดเขียนสีรูปเทพพนมยืนอยู่บนแท่น ภาพจิตรกรรมบนฝาผนังด้านข้างแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนล่างและส่วนบนเหนือหน้าต่าง ส่วนบนของผนังแบ่งเป็นสี่ชั้นโดยชั้นบนสุด เป็นภาพคนธรรพ์ วิทยาธร และสามชั้นล่างเป็นภาพเทพชุมนุมถือดอกไม้ มุ่งไปบูชาพระประธานและพระเจดีย์จุฬามณีซึ่งอยู่ที่ผนังด้านหลังพระประธาน ส่วนล่างเป็นภาพเล่าเรื่องทศชาติชาดกและพุทธประวัติ ภาพจิตรกรรมใช้ฉากหลังสีเข้มเพื่อหนุนให้ตัวภาพเด่นขึ้นเป็นลักษณะที่นิยมของภาพจิตรกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การแยกภาพแต่ละเรื่องออกกันใช้รูปพุ่มไม้ และภูเขาแยกภาพแต่ละตอนออกจากกัน เป็นลักษณะที่คลี่คลายมาจากการใช้เส้นสินเทา แบ่งภาพออกจากกันในสมัยอยุธยาตอนปลาย

     จิตรกรรมบนผนังด้านซ้ายของพระประธาน เป็นเรื่องในทศชาติชาดก โดยเริ่มตั้งแต่ เตมียชาดกเรื่อยไป จนถึงพรหมนารทชาดก เนื่องจากพื้นที่ในการเขียนภาพมีน้อยช่างจึงเขียนภาพชาดกในแต่ละเรื่องเพียงเฉพาะฉากสำคัญ ๆ 2 - 3 ฉาก เช่นในตอนมหาชนกชาดก ก็เขียนภาพตอนพระมหาชนกเดินทางค้าขายทางทะเล เรือเกิดอับปางนางมณีเมขลามาพบ และช่วยพระมหาชนกขึ้นจากมหาสมุทร ที่มุมผนังทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

     ภาพซุ้มประตูเมืองบนกรอบหน้าบันมีเลขอารบิค 1848 และภาษาอังกฤษ BANGO? เขียนไว้ที่กรอบ สันนิษฐานว่าคงจะเป็น ค.ศ.1848 ตรงกับ พ.ศ.2391 อยู่ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และคำว่า BANGO น่าจะหมายถึง บางกอกหรือเป็นชื่อบ้านบริเวณนี้ ลักษณะของตัวเลขอารบิค และตัวอักษรภาษาอังกฤษ เขียนอย่างสวยงาม และได้สัดส่วน แสดงว่าผู้เขียนน่าจะมีความรู้ในเรื่องเลขอารบิคและภาษาอังกฤษดีพอสมควร

     จิตรกรรมบนผนังด้านหน้าพระประธาน ด้านบนเป็นพระอินทร์อยู่ในปราสาทล้อมรอบด้วยเทพชุมนุม มุ่งหน้าไปบูชาพระประธานและพระเจดีย์จุฬามณี ด้านล่างซ้ายมือเป็นภาพชาดกเรื่องวิธูรชาดก และด้านขวามือเป็นภาพมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งที่วัดหน่อพุทธางกูรนี้ ช่างได้ให้ความสำคัญกับมหาเวสสันดรชาดกมาก เพราะผนังทางด้านขวาของพระประธานได้เขียนเรื่องมหาเวสสันดรชาดกเต็มตลอดผนัง

     จิตรกรรมบนผนังด้านหลังพระประธาน ด้านบนเป็นภาพพระเจดีย์จุฬามณี มีหมู่เทพยดา นางฟ้า บริวารทั้งหลายมาเฝ้าบูชา ด้านล่างเป็นเรื่องราวในพระพุทธประวัติโดยเริ่มตั้งแต่ เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จทอดพระเนตรพระราชบุตรและพระราชเทวี เสด็จออกมหาวิเนษกรมณ์ ทรงตัดพระเมาลีแล้วภาพจิตรกรรมก็ลบเลือนไปมาปรากฎภาพอีกครั้ง ในตอน นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาสและภาพจิตรกรรมจะมาจบลงตอน
พระมหาบุรุษทรงลอยถาดทอง

          จะเห็นได้ว่าภาพจิตรกรรมที่อุโบสถ วัดหน่อพุทธางกูร เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันไปตลอด โดยเริ่มตั้งแต่ ทศชาติชาดกคือตอนที่พระโพธิสัตว์ทรงเสวยพระชาติต่างๆ ก่อนที่พระองค์ทรงจะมาจุติเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วต่อด้วยภาพพุทธประวัติซึ่งเป็นเรื่องราวของมหาบุรุษ ก่อนที่จะตรัสรู้จนไปถึงตอนที่ใกล้จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าช่างคงจะสร้างความต่อเนื่องให้พระประธานภายในโบสถ์ แทนพระพุทธองค์ตอนที่ตรัสรู้เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว และภาพด้านบนที่เป็นภาพ เทพยดา คนธรรพ์
วิทยาธรต่าง ๆ มาบูชาพระเจดีย์จุฬามณีซึ่งเป็นเรื่องราวหลังจากที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว

         จิตรกรรมที่วัดหน่อพุทธางกูร นอกจากจะเขียนอธิบายเรื่องราวในพุทธศาสนาแล้ว ยังได้สะท้อนภาพขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยมและลักษณะวิถีชีวิตคนในสมัยนั้นอีกด้วย เช่น ลักษณะอาคารผู้คนจะมีลักษณะของความเป็นจีนเข้ามาปะปนอยู่ เนื่องจากเป็นประเพณีนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากนี้จิตรกรรมที่วัดหน่อพุทธางกูรยังสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมความรู้สึกของผู้เขียนภาพที่เป็นชาวลาวอีกด้วย
เช่น เครื่องดนตรีที่นักดนตรีถือในตอนภูริทัตตชาดก จะประกอบไปด้วยแคนและพิณหรือซึง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นที่นิยมของคนลาว และลักษณะการเขียนภาพจิตรกรรมที่ผนังด้านนอกอุโบสถ มักไม่ค่อยพบในการเขียนจิตรกรรมที่อุโบสถโดยทั่วไป แต่จะไปพบทางภาคอีสานที่นิยมเขียนภาพจิตรกรรมไว้ที่ผนังด้านนอกของสิม (อุโบสถขนาดเล็ก) จะเห็นได้ว่าแม้ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดหน่อพุทธางกูรนี้จะมีความหลากหลายในแง่ของรูปแบบศิลปะ แต่ช่างเขียนก็สามารถทำให้ศิลปะต่างๆ ทั้ง ไทย จีน เเละลาวผสมผสานกันได้กลมกลืนอย่างลงตัว

ที่มา :สำนักงานศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี 

แผนที่การเดินทางไป วัดหน่อพุทธางกูร จ.สุพรรณบุรี

อัลบั้มภาพ วัดหน่อพุทธางกูร จ.สุพรรณบุรี

ท่องเที่ยวทั่วไทย

 manuspanich250x100