เรารักสุพรรณ สถานที่ท่องเที่ยวสุพรรณบุรี

กิจกรรมที่น่าสนใจ ในสุพรรณบุรี

งานแห่เทียนพรรษา สุพรรณบุรี 2561

     งานแห่เทียนพรรษา จังหวัดสุพรรณบุรี ในปี 2561 นี้ ทางจังหวัดสุพรรณบุรี จะจัดให้มีพิธีแห่เทียนพรรษา (ขบวนแห่เทียนพรรษา) ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2561  ...

ถนนหรรษา วินยานุโยค อู่ทอง สุพรรณบุรี

     "ถนนหรรษา วินยานุโยค" จัดขึ้นโดย สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7) ร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ ชาวบ้านชุมชนศรีสรรเพชญ์พัฒนา ชุมชนต้นแจงพัฒนา และชุมช...

งานครบรอบ 49 ปี

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอำเภอศรีประจันต์

11-13 ตุลาคม2559
ริมน้ำหน้าที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์
ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ งาน 49 ปี

     กรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ และชาวตลาดศรีประจันต์  ขอเชิญเที่ยวงานครบรอบ 49 ปี  ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอำเภอศรีประจันต์ ตอน"แตรวงสายย่อ" ชิงแชมป์ เจ้าพ่อศรีประจันต์ วันอังคารที่ 11-13 ตุลาคม 2559 นี้ ริมน้ำหน้าที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์

     ขอเชิญทุกท่านมาสักการะ ขอพร ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ สนุกกับบรรยากาศรำวงย้อนยุค ชมการแสดงงิ้วเปลี่ยนหน้าทุกค่ำคืน เทศกาลอาหารอร่อย สวนสนุก ชมถีบและรถจักรยานยนต์โบราณหายาก พร้อมชมการแข่งขันประกวดแตรวง จากทั่วประเทศ ชิงเงินรางวัลมากกว่า 20,000 บาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

สมัครประกวดแตรวงและนางรำ ได้ที่ โทร 094-170-9004, 092-586-3111, 063-218-7080, 080-655-5335
จองร้านค้าโทร 089-689-0453

คัดลอกข้อมูลจากเพจ facebook iconสุพรรณบ้านเรา ขอขอบคุณครับ

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ สุพรรณบุรี

ประวัติศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์

     เจ้าพ่อหลักเมือง จัดว่าเป็นเทพเจ้าประจำถิ่นอันศักดิ์สิทธิ์ จะมีปรากฏทั่วไปในชุมชนที่มีชาวจีนอาศัยรวมกันจำนวนมากในประเทศไทย เจ้าพ่อหลักเมืองจะไม่พบองค์รูปเทพเจ้า และไม่ว่าสถานที่ใด จะเรียกว่า เจ้าพ่อหลักเมือง (ไม่มีแซ่ หรือตระกูลจะมีเพียงสองแห่งเท่านั้นที่มีแซ่หรือตระกูล คือหลักเมืองสุพรรณบุรี และหลักเมืองเขาสามมุก ชลบุรี เท่านั้น เพราะเทพเจ้าแซ่เจียะ (แปลว่า หิน ) โดยทั่วไปชาวจีนจะเรียกเทพเจ้าประจำถิ่นหรือเจ้าพ่อหลักเมืองว่า ปึงเถ้ากง หรือ เล่าปึงเถ่ากง เล่า แปลว่า อาวุโส หรือปึงเถ่ากงม่า (ม่า แปลว่า แม่ แม่คุณ) ส่วนสุพรรณบุรีและเขาสามมุก เรียกเทพเจ้าประจำถิ่นว่า เจียะปึงเถ่ากง สาเหตุเนื่องจากที่เขาสามมุกสถานที่อยู่บนเขาหิน ส่วนที่สุพรรณขุดพบองค์เทพเจ้าซึ่งเป็นศิลาแลง

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ สุพรรณบุรี

     ก่อนที่จะมีการสร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์อย่างในปัจจุบัน ในชุมชนตลาดศรีประจันต์ เดิมนั้นจะปรากฎศาลด้วยกันสองแห่ง คือ ศาลแห่งแรก ตั้งอยู่ระหว่างกลางของสถานีตำรวจและที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดเป็นผู้ก่อตั้ง เป็นศาลยกพื้นไม้สูงประมาณ 1.05 เมตร ทรงหน้าจั่วแหลม ไม่มีรูปเทพเจ้าปรากฏ แต่มีอักษรจีนตัวใหญ่ เขียนไว้ (อักษร จีน อ่านว่า ซิ้ง แปลว่าเทพเจ้า)

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ สุพรรณบุรี

     ศาลอีกแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ที่หลังตลาดเหนือ ซึ่งแต่เดิมเป็นคานเรือ (ปัจจุบันอยู่บริเวณบ้านช่อง) อยู่ระหว่างคานเรือ และตลาด ศาลกว้างประมาณ 2 เมตร ลักษณะยื่นไปในแม่น้ำ มีสะพานเดินข้ามเข้าไปในศาลได้ ศาลตั้งอยู่บนเนินดินมีน้ำล้อมรอบ ลักษณะที่ดินคล้ายรูปเต่าอยู่ในน้ำ มีหัวเต่าเป็นเนินดินแคบ ๆ อยู่ประมาณ 1.5 เมตร ยื่นลงไปในแม่น้ำ ตัวศาลอยู่บนเนินดินคล้ายกระดองเต่า เนินดินกว้างประมาณ 5 เมตร มีขาทั้งสี่ข้าง (ลักษณะโดยรวมคล้ายเต่ามาก) ศาลไม่มีรูปเทพเจ้าปรากฎ มีแต่อักษรจีน ศาลแห่งนี้มีจุดเด่นที่กระถางธูปเป็นศิลาแลง หนาประมาณ 3 นิ้ว กว้างและสูงประมาณ 20 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เทศกาลงานประเพณีทิ้งกระจาดของจังหวัดสุพรรณบุรี จะอัญเชิญกระถางธูปดังกล่าวไปร่วมงานทุกครั้ง ศาลแห่งนี้ ตระกูลแซ่โอ หรือ ต้นตระกูล สุวรรณประทีป (หลวงอนุกูลราชกิจทิทอง) เป็นผู้ก่อสร้าง เดิมชาวตลาดจะหวงกระถางธูปนี้มาก ด้วยเกรงว่าจะมีการสับเปลี่ยนกระถาง ถึงกับต้องมีการใส่รหัสไว้ที่กระถางธูป แต่ในปัจจุบันกระถางธูปดังกล่าวหายสาบสูญไม่ปรากฏหลักฐานว่าหายไปตั้งแต่เมื่อใด

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ สุพรรณบุรีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ สุพรรณบุรี

     สถานที่นี้เคยปรากฏสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นเมื่อปี 2485 จังหวัดสุพรรณบุรีเกิดน้ำท่วมใหญ่ เป็นปีที่เรียกว่า ปีน้ำมาก ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตลาดน้ำท่วมหมดทุกหนแห่ง เว้นแต่สถานที่ตั้งศาลน้ำไม่ท่วม ชาวตลาดพากันร่ำลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ว่าเป็นที่ดินเต่า สามารถลอยพ้นน้ำได้จึงทำให้ผู้ที่เคารพนับถือมากขึ้นตามลำดับ

     ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามกาลเวลา ตลาดเติบโตขึ้นมีความเจริญมากขึ้น จึงมีการขยายตลาดออกไปทางทิศใต้ ซึ่งเป็นที่ดินของวัดยาง ตลาดใหม่นี้เรียกว่า ตลาดใต้ ตั้งแต่ปี 2492 เป็นต้นมา เมื่อความเจริญเข้ามาถึง ทุกอย่างย่อมผันแปร ก่อนนั้นการสัญจรไปมาจะอยู่ในทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ ยุคสมัยเปลี่ยนมาเจริญในทางบกแทน มีการสร้างถนนหนทางมากขึ้น ทางที่ว่าการอำเภอก็มีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน ทางอำเภอมีความต้องการที่จะใช้สถานที่ที่เป็นที่ตั้งของศาลเล็ก ซึ่งอยู่ระหว่างกลางสถานีตำรวจกับที่ว่าการอำเภอ จัดสร้างเป็นหอประชุมจึงต้องมีการขยับขยายศาลเล็กไปสร้างขึ้นทางด้านหลังวัดยาง ซึ่งแต่เดิมเป็นสถานที่รกร้างใกล้ป่าช้า และห่างไกลตลาดในขณะนั้น โดยก่อตั้งศาลไม้ ในรูปแบบเดิม แต่กว้างใหญ่มากขึ้นกว่าเก่า กว้างประมาณ 3 เมตร สูงประมาณ 4 เมตร

     ศาลตั้งอยู่ประมาณ 10 ปี ทางคานเรือ นายยนต์ ภาตะนันต์ มอบที่ดินเพิ่มเติมทำให้พื้นที่ดินมีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งชาวชุมชนตลาดศรีประจันต์ จึงมีความคิดที่จะสร้างศาลทั้งสองแห่งรวมเป็นศาลเดียวกัน และทำให้ใหญ่ถาวรด้วยลักษณะคอนกรีตเสริมเหล็ก (รูปแบบจีนโบราณ) ให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน และเสริมสร้างให้สง่างามตามยุคสมัย ทั้งนี้มีความคิดเป็นหนึ่งไม่แยกเป็นเหนือ-ใต้ หลายฝ่ายมีมติเป็นเอกฉันท์ โดยช่วยกันบริจาคทรัพย์เพื่อใช้ในการก่อสร้างศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ อย่างท่วมท้น จึงได้ถมดินรุกลงไปในแม่น้ำเพิ่มขึ้นอีก เป็นการขยายให้กว้างขึ้นตามวัตถุประสงค์ ปัจจุบันจึงไม่มีสภาพหลังเต่าให้เห็น ไม่เหลือร่องรอยดินในลักษณะรูปเต่าโบราณให้รับรู้อีกเลย ศาลหลักเมืองแห่งใหม่นี้สร้างแล้วเสร็จ ให้ชาวศรีประจันต์สักการะบูชาในปี 2531

     ต่อมาทางราชการได้มีนโยบายสร้างสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน ทำให้ตัวสะพานเฉียดกับที่ตั้งศาล อีกทั้งบริเวณส่วนหน้าศาลซึ่งแต่เดิมเป็นริมน้ำ ได้มีการนำดินมาถมเป็นพื้นที่สูง และมีการสร้างบ้านเรือนบดบังทัศนียภาพบริเวณด้านหน้าศาล โดยรวมแล้วจึงเป็นสถานที่ตั้งศาลผิดหลักฮวงจุ้ยที่ดี จึงได้มีการขยับขยายที่ตั้งศาลหลักเมืองอีกแห่งเพื่อให้ถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย

     ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์แห่งใหม่ จึงได้จัดสร้างใหม่ขึ้นริมเขื่อนแม่น้ำท่าจีน (บริเวณหน้าสถานีตำรวจ) จัดสร้างและวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันอาทิตย์ 29 พฤศจิกายน 2541 ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 1 จุลศักราช 1360 เวลา 11.19 น.สมโณฤกษ์ (ฤกษ์สงบ) แล้วเสร็จเปิดศาลแห่งใหม่นี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2543 เพื่อเป็นที่เคารพและสักการบูชาของชาวตลาดศรีประจันต์ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

จากข้อมูลจากคำบอกเล่าของท่านอาจารย์ ย่ง แซ่ลิ้ม (ลิ้มเต็กเฮง) เมื่อสิริอายุ 95 ปี (ซ้ง) เรียบเรียงและบันทึก โดย นายวิฑูรย์ บุญมาลีตระกูล 

หมายเหตุ : ข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลเผยแพร่ ณ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์

 ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์ สุพรรณบุรี

แผนที่การเดินทางไปศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์

 

อัลบั้มรูปภาพ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองศรีประจันต์

เรื่องดี ๆ ที่เราแนะนำให้คุณคลิกเข้าไปอ่าน

share now2

ท่องเที่ยวทั่วไทย

 manuspanich250x100