เรารักสุพรรณ สถานที่ท่องเที่ยวสุพรรณบุรี
1392 1
 
สถานีรถไฟ "เจ็ดเสมียน" หลังเก่า ตลาดเจ็ดเสมียนอยู่หลังสถานีรถไฟ 
ผมได้เล่าเรื่องของผมกับเพื่อนๆที่อยู่ในตลาดเจ็ดเสมียนผ่านมาแล้วในตอนแรก ซึ่งที่ตลาดเจ็ดเสมียนนั้นผมมีเพื่อนรุ่นๆเดียวกันหลายคน ในตอนที่เล่ามาตอนแรกนั้นคือตอนที่ไปทำการขุดหาเปลือกหอยกาบกันที่ทางเข้าตำบลท่ามะขาม 
และในวันนั้นผมได้ไปกับเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นน้องที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับผมในบางตอนด้วยตามที่ได้เสนอมาแล้ว เพื่อนรุ่นน้องคนนี้เคยไปไหนมาไหนกับผมมานับว่าจะมากกว่าคนอื่นๆ เพราะว่าสนิทกันและบ้านอยู่ที่ห้องแถวในตลาดห้องติดกัน ดังนั้นจึงมีเหตุการณ์ต่างๆที่ได้ทำมาด้วยกันค่อนข้างจะมาก แล้วผมจะเล่าให้ท่านทราบถึงเรื่องอื่นๆในโอกาสต่อไป
ดังนั้นในขั้นแรกนี้ผมจึงอยากจะแนะนำเสียก่อนว่า คุณคะนอง (ในตอนเด็กๆผมเรียกเขาว่า ไอ้เหม่ง และต่อไปผมจะเรียกเขาในที่นี้ว่า “ไอ้เหม่ง” นะครับ) เป็นใครมาจากไหนเสียก่อนนะครับ
 
350 rumpa
 
คุณคะนอง กับพี่สาวและน้องชาย นั่งเล่นที่รางรถไฟไกล้สถานีรถไฟเจ็ดเสมียน 
ตลาดเจ็ดเสมียนในตอนแรกที่อยู่หลังสถานีรถไฟเจ็ดเสมียน ตั้งแต่ผู้คนเก่าๆรุ่นปู่รุ่นย่านั้น ตลาดเจ็ดเสมียนมีเพียงแถวเดียวเท่านั้น คือแถวที่ด้านหลังติดคลองเจ็ดเสมียน คลองเจ็ดเสมียนนี้ที่ปากคลองจะเชื่อมกับแม่น้ำแม่กลอง ที่เรียกว่า “ท่าใหญ่ ” ที่ท่าใหญ่นี้ก็มีเรื่องราวมากมายที่เกี่ยวข้องกับท่าใหญ่ แล้วผมจะเล่าถึงเรื่องของ “ท่าใหญ่” ในตอนต่อๆไป
ในเวลาต่อมาตลาดเจ็ดเสมียนเริ่มเจริญขึ้น เพราะว่าตลาดเจ็ดเสมียนเป็นชัยภูมิที่เหมาะ เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของการค้าขาย ตลาดเจ็ดเสมียนมีทางที่จะเข้ามาได้หลายทาง มีทางน้ำเพราะตลาดเจ็ดเสมียนตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ทางรถไฟมีสถานีรถไฟมาจอดและวิ่งผ่านลงไปทางภาคไต้ ทางรถยนต์ที่วิ่งลงไต้ก็แวะเข้ามาตลาดเจ็ดเสมียนได้โดยง่าย
ผู้นำชุมชนในสมัยนั้นเห็นว่าควรขยายตลาดเพื่อรองรับความเจริญ จึงได้สร้างห้องแถวขึ้นอีกแถวหนึ่ง โดยหันหน้าเข้าหากันกับห้องแถวเก่าโดยเว้นระยะตรงกลางระหว่างตลาดแถวเก่ากับใหม่ เป็นลานกว้าง ส่วนด้านหลังของห้องแถวใหม่นี้ติดกับกำแพงโบสถ์วัดเจ็ดเสมียน ตลาดเจ็ดเสมียนจึงมีห้องแถวสองแถวหันหน้าเข้าหากันจนถึงปัจจุบันนี้
 
talad chetsamian 1
 
ตลาดเจ็ดเสมียนมองจากสถานีรถไฟ เป็นสองแถวหันหน้าเข้าหากัน สุดตลาดเป็นท่าน้ำ แม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน
 
เมื่อห้องแถวใหม่ปลูกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มีผู้ที่สนใจมาจับจองกันเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยหรือว่าจะมาทำกิจการอย่างอื่นก็ตามแต่อาชีพของเขา
ครอบครัวของผมก็เป็นหนึ่งในที่กล่าวถึงนี้ เราจองห้องเอาไว้ห้องหนึ่งและในขณะนั้นครอบครัวของผม ยังไม่ได้ย้ายเข้ามาอยู่เลย ก็มีอีกครอบครัวหนึ่งได้มาจองห้องติดกันกับกับห้องของครอบครัวผม และไม่นานก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่ห้องแถวแห่งนี้เกือบจะพร้อมๆกัน
ครอบครัวที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ใกล้ๆกับห้องผมนั้น ได้ยินผู้ใหญ่คุยกันบ้างแล้วก็รู้ว่าเขาย้ายมาจากอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งอยู่ในอำเภอเดียวกัน เขามีอาชีพถ่ายรูป รับจ้างถ่ายรูปนอกสถานที่และในสถานที่ด้วย ดังนั้นเขาจึงจัดร้านของเขาเป็นร้านถ่ายรูป ในตอนหลังร้านถ่ายรูปแห่งนี้จึงเป็นร้านที่มีคนนิยมมาถ่ายรูปกันมาก
 
 chetsamian 355
ลุงเนียนและลูก (ภาพนี้ไม่มีคุณคะนอง) พร้อมด้วยเด็กตลาดเจ็ดเสมียนในสมัยนั้น รูปนี้ถ่ายที่เสาธงหน้าโรงเรียนวัดเจ็ดเสมียน
 
chetsamian 356 
 ลุงเนียนกับลูกๆนั่งเล่นกันอยู่ภายในร้านถ่ายรูป "จำเนียรศิลป์ ตลาดเจ็ดเสมียน " คุณคะนอง (ไอ้เหม่ง) นั่งติดกับลุงเนียน
 
photo 2
 
ภายในร้านถ่ายรูปของลุงเนียน ผู้เขียนมานั่งเล่นที่ร้านนี้ในตอนค่ำๆเป็นประจำ เพราะว่าบ้านห้องแถวอยู่ติดกัน
 
ลุงเนียนและป้าม่อม (ผมเรียกเขาอย่างนี้ตั้งแต่เริ่มมาอยู่ใกล้กัน) คือครอบครัวที่ย้ายมาอยู่ที่ตลาดเจ็ดเสมียน เขามีลูกหลายคน ในจำนวนนี้มี คุณคะนอง หรือไอ้เหม่ง ซึ่งไอ้เหม่งนี้มีพี่สาวอีกสองคนดังนั้นไอ้เหม่งจึงเป็นลูกชายคนโตของลุงเนียน นอกจากนั้นไอ้เหม่งยังมีน้องอีกคนหนึ่งคือ คนึง คุ้มประวัติ (ไอ้จุ้ย ) ไอ้จุ้ย นี้อายุน้อยกว่าผมหลายปี ดังนั้นเราจึงไม่ค่อยได้ยุ่งกันเท่าไรนัก นับว่าครอบครัวนี้ก็เป็นครอบครัวใหญ่พอสมควร
เมื่อครอบครัวของเราย้ายมาอยู่ติดกันแล้ว ก็มีความสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ สำหรับไอ้เหม่งนั้นอายุน้อยกว่าผมสักสองปีเห็นจะได้ เขาเรียกผมว่าพี่เก้ว (เป็นชื่อที่เพื่อนๆเรียกผม-ผู้เขียน)
เนื่องจากบ้านอยู่ติดกันเราจึงเจอกันทุกวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงกลางคืน กินข้าวบางมื้อก็มักจะคดข้าวแล้วถือชามออกมานั่งกินด้วยกันที่ร้านหน้าบ้าน กินกันไปคุยกันไป พอสายๆในวันที่ไม่ได้ไปโรงเรียน ผมก็ชวนไอ้เหม่งหรือบางทีก็อาจจะมีเพื่อนคนอื่นๆอีก ไปยิงนก ตกปลา กันไปตามเรื่องของเด็กๆในสมัยนั้น
 
scan0014 1
คุณคะนอง (ไอ้เหม่ง) อุ้มน้องคนเล็กอยู่หลังบ้าน ภาพนี้ถ่ายตอนมีอายุมากขึ้นมาหน่อยกว่าในเรื่อง
 
เมื่อตอนเป็นเด็กๆชีวิตของเด็กตลาดเจ็ดเสมียน เมื่อยามหน้าน้ำๆในแม่น้ำแม่กลองขึ้นล้นตลิ่ง ไหลเข้าสู่ลำคลองต่างๆเรียกว่าฤดูน้ำหลาก ที่ตำบลเจ็ดเสมียนมีคลองหลายลำคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำแม่กลอง เช่นคลองหลังตลาด คลองท่ามะขาม คลองวัดใหม่ชำนาญ และคลองวัดตึก
หน้าฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลเชี่ยวกรากเข้าทางลำคลองเหล่านี้ ปลาเล็กปลาน้อยต่างก็ร่าเริง ว่ายหลั่งไหลเข้าไปในลำคลองเหล่านี้ 
คลองหลังตลาดเจ็ดเสมียนเป็นคลองที่สำคัญที่สุดของเด็กเจ็ดเสมียน พวกเราเอาสวิง เอาตาข่ายไปตักปลา ช้อนปลากันอย่างสนุกสนาน ที่คลองหลังตลาดมีศาลเจ้าแม่เจ็ดเสมียนอยู่ริมคลอง ตรงศาลเจ้านั้นมีประตูระบายน้ำก่อสร้างแบบคอนกรีต เมื่อจะกั้นน้ำก็มีเพียงแผ่นไม้หนาๆเอาใส่ลงไปในร่องเพื่อกั้นน้ำที่ไหลเข้าไปในคลองมากเกินไปเท่านั้น
 
chetsamian 033
 
ประตูน้ำช่องทางที่น้ำผ่านเวลาน้ำขึ้นมากๆเขาจะมีไม้กระดานแผ่นหนาๆมากั้นน้ำเอาไว้
 
 chetsamian 031
ในปัจจุบันนี้ (นานหลายปีแล้ว) มีการขยายศาลเจ้าแม่เจ็ดเสมียนออกมาเกือบกลางลำคลอง ทำให้ช่องทางที่น้ำไหลเข้าไปเล็กนิดเดียว
 
chetsamian 032
 
สภาพ "ท่าใหญ่ "ที่น้ำจากแม่น้ำแม่กลองไหลเข้าคลองเจ็ดเสมียน ในปัจจุบันนี้แคบมากเพราะว่ามีสิ่งปลูกสร้างล้ำที่เข้ามามาก
 
พวกเราเด็กเจ็ดเสมียนมักจะยืนตรงประตูระบายน้ำนี้ พลางเอาสวิงช้อนปลาไปตามน้ำที่กำลังไหลเชี่ยว ช้อนแต่ละครั้งจะได้ปลาเล็กปลาน้อย ปลาสร้อย ปลารากกล้วย ปลาหมู และปลาอื่นๆ ครั้งละมากๆ
เจ็ดเสมียนยามนั้นเป็นตำบลเล็กๆที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว คนขยันไม่อดอยาก ธรรมชาติสร้างมาให้อย่างเหลือเฟือ 
พวกผมช้อนปลากันตรงนี้ตั้งแต่เช้า ไม่ถึงเพลก็เลิกแล้วเพราะว่าได้ปลาเล็กปลาน้อยกันคนละกว่าครึ่งปี๊บ (น้ำมันก๊าด) มากกว่านี้ก็จะแบกไปบ้านไม่ไหว 
ไปถึงบ้านแม่จะเอาปลาเหล่านี้ส่วนหนึ่ง นำไปล้างให้สะอาด แล้วทอดในกระทะที่มีน้ำมันเยอะๆ กลับไปกลับมาจนกรอบเกรียมได้ที่ แล้วตักน้ำมันออกให้แห้งแล้วใส่น้ำปลาสร้อยแท้ ที่ได้หมักใส่โอ่งไว้เมื่อปีก่อนๆ ใส่ลงไปในกระทะที่กำลังร้อนๆอยู่ กลิ่นหอมๆเค็มๆลอยขึ้นมาทำให้หิวข้าวยิ่งนัก 
ปลาที่เหลือแม่บอกว่าถ้ามีคนมาซื้อก็จะขายไป ถ้าไม่มีคนมาซื้อก็จะเอาปลาสร้อยเหล่านี้ หมักเป็นน้ำปลาไว้กินในปีหน้าอีกต่อไป เด็กๆตลาดหลายคนเมื่อช้อนปลามาได้แล้วก็จะทำอย่างที่ผมว่านี้ ไอ้เหม่งก็เช่นเดียวกัน
 
กรุณาติดตามตอนต่อไป เร็วๆนี้ ที่นี่เท่านั้น
 
IMG 4209
 
นายแก้ว ผู้เขียน ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐