เรารักสุพรรณ สถานที่ท่องเที่ยวสุพรรณบุรี

ประวัติศาสตร์ เมืองสุพรรณบุรี

     สุพรรณบุรีเป็นเมืองโบราณ พบหลักฐานทางโบราณคดีมีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500-3,800 ปี โบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสำริด ยุคเหล็ก และสืบทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ ฟูนัน อมราวดี ทวารวดี และศรีวิชัย สุพรรณบุรีเดิมมีชื่อว่า ทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ หรือ พันธุมบุรี ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าจีน แถบ บริเวณตำบลรั้วใหญ่ไปจดตำบลพิหารแดง ต่อมาพระเจ้ากาแตได้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่ฝั่งขวาของแม่น้ำ แล้วโปรดให้มอญน้อยไปสร้างวัดสนามชัย และบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ชักชวนให้ข้าราชการจำนวน 2,000 คนบวช จึงขนานนามเมืองใหม่ว่า สองพันบุรี ครั้งถึงสมัยพระเจ้าอู่ทอง ได้สร้างเมืองมาทางฝั่งใต้หรือทางตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ชื่อเมืองเรียกว่า อู่ทอง จวบจนสมัยขุนหลวงพะงั่ว เมืองนี้จึงถูกเรียกว่าชื่อว่า สุพรรณบุรี นับแต่นั้นมา

     ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองหน้าด่านและเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ ต้องผ่านศึกสงครามหลายต่อหลายครั้ง สภาพเมืองตลอดจนโบราณสถานถูกทำลายเหลือเพียงซากปรักหักพัง จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองสุพรรณบุรีได้ฟื้นตัวขึ้นใหม่ และตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน (ลำน้ำสุพรรณ) มาจนตราบทุกวันนี้

     ความสำคัญของสุพรรณบุรีในด้านประวัติศาสตร์การกอบกู้เอกราชไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ ชัยชนะแห่งสงครามยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา ณ สมรภูมิดอนเจดีย์ เป็นมหาวีรกรรมคชยุทธอันยิ่งใหญ่ที่ได้ถูกจารึกไว้ และมีการจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ ในด้านวรรณคดี เป็นเมืองต้นกำเนิดแห่งตำนาน "ขุนช้างขุนแผน" วรรณคดีไทยเรื่องราวและสถานที่ที่ปรากฏตามท้องเรื่องยังคงมีให้เห็นในปัจจุบัน อาทิ บ้านรั้วใหญ่ วัดเขาใหญ่ ท่าสิบเบี้ย ไร่ฝ้าย วัดป่าเลไลยก์ วัดแค อำเภออู่ทอง และอำเภอศรีประจันต์

     สุพรรณบุรี ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์บนพื้นที่ราบภาคกลางสืบสานความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่อดีตเมื่อ พ.ศ. 1420 จากนามเดิมเมืองพันธุมบุรีในยุคทวารวดีตามหลักฐานทางโบราณคดีได้จารึกชื่อไว้ในพงศาวดารเหนือ และนาม "สุพรรณภูมิ" ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชระบุว่าเป็นนครรัฐที่มีความสำคัญมาก่อนกรุงศรีอยุธยา เมื่อมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เมืองสุพรรณบุรีจึงจัดอยู่ในฐานะเมืองลูกหลวงซึ่งเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญอีกด้วย

 

ประวัติศาสตร์ เมืองสุพรรณบุรี

เมืองสุพรรณในสมัยรัตนโกสินทร์

บันทึกในหน้าประวัติศาสตร์
     ครั้งสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ชาวสุพรรณต่างอพยพหลบหนีไปอยู่ยังที่ที่ปลอดภัยกว่า ปล่อยให้เมืองสุพรรณร้างไปขณะหนึ่ง แม้แต่ในสมัยรัชการที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรด ฯ ให้มีการรวบรวมรายชื่อและจัดระเบียบแบ่งหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร ก็ยังไม่ปรากฏชื่อเมืองสุพรรณอยู่ในทำเนียบ
     ชื่อ “สุพรรณบุรี” ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 จากโคลงนิราศสุพรรณซึ่งแต่งโดยสุนทรภู่ในราว พ.ศ. 2379 และในนิราศสุพรรณของเสมียนมี ศิษย์เอกสุนทรภู่ แต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2387 ครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นพรหมพัดสร นายอากรเมืองสุพรรณบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 3

สุพรรณภูมิ จากเมืองลูกหลวงสู่แดนยุทธหัตถี (พุทธศตวรรษที่ 20-22)

     หลังจากสมเด็จพระนครินทราธิราชจากสุพรรณภูมิ เสด็จไปครองกรุงศรีอยุธยา ทรงรวมอำนาจการปกครองแคว้นสุพรรณภูมิเข้าไว้ด้วยกันกับกรุงศรีอยุธยา และโปรดให้พระราชโอรสมาครองเมืองสุพรรณภูมิ เมืองนี้จึงคงความสำคัญต่อมาในฐานะเมืองลูกหลวง ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) สุพรรณภูมิกลายเป็นเมืองชั้นจัตวา ทำหน้าที่เมืองหน้าด่านให้กับกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อเกิดสงครามไทย – พม่าในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ. 2091 สุพรรณภูมิไม่อาจต้านทัพพม่าไว้ได้ เมื่อเสร็จศึก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์จึงโปรดให้รื้อกำแพงเมืองเพื่อมิให้ข้าศึกใช้เป็นที่มั่น แต่ในสงครามหลังจากนั้นกรุงศรีอยุธยาก็เสียเอกราชให้กับพม่าเมื่อ พ.ศ. 2112

     เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพให้กับกรุงศรีอยุธยาแล้ว สุพรรณภูมิก็มีความสำคัญอีกครั้งในฐานะสมรภูมิอันยิ่งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2135 ซึ่งพม่ายกทัพมาหมายจะปราบปราม ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนำทัพมาสกัดทัพพม่าในท้องที่เมืองสุพรรณภูมิและทรงกระทำยุทธหัตถีได้ชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาของพม่า ณ ตำบลหนองสาหร่าย ผลจากชัยชนะครั้งนั้นทำให้พม่าไปยกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยาอีกเลยเป็นเวลานานเกือบ 170 ปี จนถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงได้เกิดสงครามไทย –พม่าอีกครั้ง ซึ่งนำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2310 และเมืองสุพรรณก็ร้างไปในคราวนั้น

จากสุพรรณภูมิ สู่ “สุพรรณบุรี”

     ชื่อเมืองสุพรรณภูมิ เปลี่ยนเป็น “สุพรรณบุรี” เมื่อใดไม่มีหลักฐานระบุชัด หลักฐานชิ้นแรกที่เรียกสุพรรณภูมิ ว่าสุพรรณบุรี พบเพียงเอกสารเก่าที่สุดคือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2223 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แสดงว่า ขณะนั้นเมืองนี้มีชื่อว่าสุพรรณบุรีแล้ว


คนยุคแรก ๆ ในสุพรรณบุรี

     มนุษย์ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตปัจจุบันคือ จังหวัดสุพรรณบุรีเมื่อ 3,000 ปีมาแล้วโดยในระยะแรกคงอาศัยอยู่ตามถ้ำหรือเพิงผา ดำรงชีพอยู่ด้วยการหาของป่าและล่าสัตว์มีการประดิษฐ์เครื่องมือหินรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นเพื่อใช้สอย ต่อมามีการพัฒนาขึ้นและได้อพยพมาสร้างบ้านเรือนบนที่ราบริมน้ำ ดำรงชีพด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ เรียนรู้การนำแร่ธาตุโลหะมาประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับ
 

ประวัติศาสตร์ เมืองสุพรรณบุรี

ถ้ำและเพิงผาในเขตอำเภออู่ทอง ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์
 

ประวัติศาสตร์ เมืองสุพรรณบุรีภาชนะดินเผาสำหรับประกอบอาหาร

ประวัติศาสตร์ เมืองสุพรรณบุรี
แวดินเผา ชิ้นส่วนประกอบอุปกรณ์การผลิตเส้นใยสำหรับทอผ้า
 

ประวัติศาสตร์ เมืองสุพรรณบุรี
เครื่องมือทำจากกระดูกสัตว์และเขากวาง พบที่บ้านดอนระฆัง อำเภอเมือง

ประวัติศาสตร์ เมืองสุพรรณบุรี

ขวานหินและกำไลหินของคนยุคแรก ๆ ที่อาศัยในดินแดนสุพรรณบุรี

ประวัติศาสตร์ เมืองสุพรรณบุรี

ขวานหินแบบต่าง ๆ พบที่อำเภออู่ทอง ประดิษฐ์กรรมเพื่อการดำรงชีพของมนุษย์ยุคแรก ๆ ที่อาศัยในดินแดนสุพรรณบุรี


     ในเขตที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของคนยุคแรก ๆ เช่นในเขตอำเภออู่ทอง อำเภอด่านช้าง อำเภอเมือง พบภาชนะดินเผารูปแบบต่าง ๆ ที่ใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบอาหาร และแวดินเผาซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นอุปกรณ์ประกอบในการทอผ้า เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากสำริดหรือหินหลักฐานเหล่านี้ช่วยให้ทราบว่าคนในยุคแรก ๆ ของสุพรรณบุรีนั้น มีการพัฒนาด้านความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างก้าวหน้าในระดับหนึ่งและเมื่อมีการติดต่อกับชุมชนภายนอกทำให้เกิดการพัฒนาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้นในเวลาต่อมา

ในระบบมณฑล

     ตัวเมืองสุพรรณบุรี ปัจจุบันอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณบุรี สันนิษฐานว่าน่าจะมีการย้ายเมืองจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ ในราวสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2435 โปรด ฯ ให้มีการจัดระเบียบการปกครองหัวเมืองเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลสุพรรณบุรี และสมุทรสาคร สุพรรณบุรี มีฐานะเป็น “จังหวัดสุพรรณบุรี” ในสมัยรัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ พ.ศ. 2456 เป็นต้นมา

ครั้งเจ้านายเสด็จ ฯ

     สุพรรณบุรี เป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งที่พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี และบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จมาหลายครั้ง นับตั้งแต่
     - พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงผนวช ได้เสด็จธุดงค์มาถึงวัดป่าเลไลยก์ และโปรดฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดและพระพุทธรูป “หลวงพ่อโต” เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ
     - พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองเป็นครั้งแรกโดยทางเรือ เรียกว่า เสด็จประพาสต้น ได้เสด็จประทับที่เมืองสุพรรณ ทรงเยี่ยมเยียนราษฏร และทรงนมัสการสถานที่สำคัญ ๆ เช่น วัดมหาธาตุ วัดป่าเลไลยก์ วัดบางยี่หน และศาลหลักเมือง
     - พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เสด็จฯ ตามเส้นทางของกระบวนทับในคราวสงครามยุทธหัตถี ทรงนมัสการอนุสรณ์ดอนเจดีย์
     - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จ ฯ โดยทางรถยนต์ ทรงเปิดอนุสรณ์ดอนเจดีย์ และพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2502