เรารักสุพรรณ สถานที่ท่องเที่ยวสุพรรณบุรี

   ขอเชิญเที่ยวงาน "มหกรรมสินค้าเกษตรและของดี ๒๕๕๗ สุพรรณบุรี" ที่บริเวณลานหน้าวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จังหวัดสุพรรณบุรี การจัดงานในครั้งนี้ เป็นการความร่วมมือร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน และสมาชิกกลุ่มสถาบันเกษตรกร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการบูรณาการ และรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีคุณภาพปลอดภัยและได้มาตรฐาน รวมทั้งผลิตภัณฑ์ OTOP ของจังหวัดสุพรรณบุรี

มหกรรมสินค้าเกษตรและของดี สุพรรณบุรี 2557

อ่านเพิ่มเติม...

     คนไทยพื้นบ้าน ในจังหวัดสุพรรณบุรี มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และได้มีการรับหรือถ่ายทอดวัฒนธรรม แก่กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่เข้ามาติดต่อสัมพันธ์กัน ลักษณะทางวัฒนธรรมของคนไทยพื้นบ้าน ที่ยังคงเห็นได้ คือรูปแบบของเรือนที่อยู่อาศัย การแต่งกาย และประเพณีเกี่ยวกับชีวิตต่าง ๆ ตั้งแต่ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด การบวชพระ การแต่งงาน และงานศพ

suphan015
เรือนไทยพื้นบ้านในจังหวัดสุพรรณบุรี

 suphan014
เด็กชายไว้ผมแกละ ที่อำเภอศรีประจันต์ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมคนไทยพื้นบ้านที่สืบเนื่องมาจากอดีต

    คนไทยพื้นบ้านในจังหวัดสุพรรณบุรี นับถือพุทธศาสนา และส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ศูนย์กลางสำคัญของชุมชนคือวัด อันเป็นที่ประกอบกิจกรรมงานบุญและงานรื่นเริงต่าง ๆ เมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว ชายหนุ่ม หญิงสาว จะพายเรือไปเที่ยวงานวัด ระหว่างทางจะร้องเพลงเกี้ยวพาราสีกัน เป็นท่วงทำนองพื้นบ้านแบบต่าง ๆ เพลงอีแซว เป็นเพลงพื้นบ้านประเภทหนึ่ง ที่สืบทอดมาเป็นมรดกของชาวสุพรรณในปัจจุบัน

suphan016
ลักษณะการแต่งกายของคนไทยพื้นบ้าน ที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังในจังหวัดสุพรรณบุรี
จิตรกรรมภาพการชกมวย ที่วัดจรรย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

ประวัติศาสตร์ เมืองสุพรรณบุรี

     สุพรรณบุรีเป็นเมืองโบราณ พบหลักฐานทางโบราณคดีมีอายุไม่ต่ำกว่า 3,500-3,800 ปี โบราณวัตถุที่ขุดพบมีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสำริด ยุคเหล็ก และสืบทอดวัฒนธรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ ฟูนัน อมราวดี ทวารวดี และศรีวิชัย สุพรรณบุรีเดิมมีชื่อว่า ทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ หรือ พันธุมบุรี ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าจีน แถบ บริเวณตำบลรั้วใหญ่ไปจดตำบลพิหารแดง ต่อมาพระเจ้ากาแตได้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่ฝั่งขวาของแม่น้ำ แล้วโปรดให้มอญน้อยไปสร้างวัดสนามชัย และบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ชักชวนให้ข้าราชการจำนวน 2,000 คนบวช จึงขนานนามเมืองใหม่ว่า สองพันบุรี ครั้งถึงสมัยพระเจ้าอู่ทอง ได้สร้างเมืองมาทางฝั่งใต้หรือทางตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ชื่อเมืองเรียกว่า อู่ทอง จวบจนสมัยขุนหลวงพะงั่ว เมืองนี้จึงถูกเรียกว่าชื่อว่า สุพรรณบุรี นับแต่นั้นมา

อ่านเพิ่มเติม...

DSC 0003

คำขวัญของจังหวัดสุพรรณบุรี
เมืองยุทธหัตถี วรรณคดีขึ้นชื่อ เลื่องลือพระเครื่อง รุ่งเรืองเกษตรกรรม
สูงล้ำประวัติศาสตร์ แหล่งปราชญ์ศิลปิน ภาษาถิ่นชวนฟัง

ตราประจำจังหวัดสุพรรณบุรี

ตราประจำจังหวัดสุพรรณบุรี

เป็นภาพสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี กับพระมหาอุปราชา ที่บริเวณดอนเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๓๕ การศึกในครั้งนั้น นอกจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะได้รับชัยชนะแล้ว ยังทำให้ไทยได้เอกราชจากพม่าอีกด้วย นับเป็นเกียรติประวัติและพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ ของพระมหาบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าของประเทศไทย ดังนั้น ทางจังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้ขออัญเชิญภาพดังกล่าว นำมาประดิษฐ์เป็นตราประจำจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อให้เป็นความภาคภูมิใจของชาวสุพรรณบุรี และคนไทยทั้งประเทศ

ลักษณะทางกายภาพ

        จังหวัดสุพรรณบุรีตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ภาคกลางทางด้านทิศตะวันตกของประเทศไทย ลักษณะทางภูิมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่บางส่วนเป็นเนินเขาสลับกับภูเขาสูง อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ ๑๔ องศา ๔ ลิปดา ถึง ๑๕ องศา ๕ ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ ๙๙ องศา ๑๗ ลิปดา ถึง ๑๐๐ องศา ๑๖ ลิปดาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ยประมาณ ๓ - ๑๐ เมตร มีพื้นที่ประมาณ ๕,๓๕๘,๐๐๘ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓๓๔๘๗๕๕ ไร่ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๔๐ ประมาณ ๑๐๗ กิโลเมตร ทางรถไฟ ประมาณ ๑๔๒ กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดชัยนาท และจังหวัดอุทัยธานี
  • ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัด นครปฐม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดอ่างทอง จังหวัดสิงห์บุรี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดอุทัยธานี

จังหวัดสุพรรณบุรีแบ่งเขตการปกครองออกเป็น ๑๐ อำเภอ ๑๑๐ ตำบล ๑๐๐๗ หมู่บ้าน

อำเภอ พื้นที่ ตรกม. ตำบล หมู่บ้าน
อำเภอเมืองสุพรรณบุรี 540,917 20 124
อำเภอดอนเจดีย์ 252,081 5 50
อำเภอบางปลาม้า 481,298 14 127
อำเภอสองพี่น้อง 750,381 15 140
อำเภอศรีประจันต์ 180,986 9 64
อำเภอสามชุก 355,917 7 68
อำเภอเดิมบางนางบวช 552,330 14 121
อำเภออู่ทอง 630,290 13 154
อำเภอด่านช้าง 1,193,599 7 93
อำเภอหนองหญ้าไซ 420,209 6 66