เรารักสุพรรณ สถานที่ท่องเที่ยวสุพรรณบุรี

  suphan001 
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงชนไก่กับพระมหาอุปราชาในขณะประทับอยู่ ณ เมืองหงสาวดี


     สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองพิษณุโลก ในปีพุทธศักราช 2098 เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์ ทรงถูกส่งตัวไปอยู่เมืองหงสาวดี ตั้งแต่พระชนมายุ 9 พรรษา ประทับอยู่จวบจนพระชนมายุ 16 พรรษา จึงได้เสด็จกลับไปประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก ในปีพุทธศักราช 2114 สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรด ฯ ให้สถาปนาเป็นองค์รัชทายาทปกครองหัวเมืองเหนือ ขณะที่ปกครองหัวเมืองเหนือนั้น ทรงปราบปรามและป้องกันบ้านเมืองให้รอดพ้นจากการรุกรานของข้าศึกด้วยพระปรีชาสามารถและความกล้าหาญ และในปีพุทธศักราช 2127 ทรงประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับพม่าอีกต่อไป

suphan002
สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพ ที่เมืองแครง พ.ศ. 2127
 suphan003
สมเด็จพระนเรศวรทรงพระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโดง ในการศึกกับพม่า พ.ศ.2127


     พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ 25 พรรษาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2133 และในอีก 2 ปีต่อมา ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ที่ตำบลหนองสาหร่าย ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี จากชัยชนะที่ได้รับในครั้งนั้น ทำให้กรุงศรีอยุธยาว่างเว้นจากการศึกกับพม่ามาเป็นเวลานับศตวรรษ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ นอกเหนือจากการศึกษาเพื่อสร้างความมั่นคงของอาณาจักรแล้วทรงพยายามฟื้นฟูและสร้างความมั่นคงให้กลับคืนสู่อาณาจักรดังเช่นแต่ก่อนด้วย ทรงติดต่อค้าขายกับนานาประเทศ

suphan004
สมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพไปปราบเจ้าเมืองเชียงใหม่

 suphan005
สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราช พ.ศ. 2135

      สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะเส็งพุทธศักราช 2148 ที่เมืองหาง ในคราวเสด็จไปปราบเจ้าเมืองอังวะ เมื่อมีพระชนมายุได้ 50 พรรษารวมเวลาเสวยราชสมบัติได้ 15 ปี


พระเจดีย์ยุทธหัตถี

ราชาชเยศอื้น โองการ
รังสฤษฏ์พระสถูปสถาน ทิ่มล้าง
ขู่เข็ญคู่บำราญ สวมศพ ไว้แฮ
หนตระพังตรุสร้าง สืบหล้าแหล่งเฉลิม


(จาก ลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)

 

suphan008

สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

      พระเจดีย์ยุทธหัตถี ณ ตำบลหนองสาหร่ายตามที่พระราชพงศาวดาร กล่าวไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช โปรด ฯ ให้สร้างไว้นั้น เริ่มเปิดเผยเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เจ้า กรมพระยาดำรงราชานุภาพซึ่งทรงให้ความสนพระทัย และสืบค้นมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ผู้ค้นพบ คือ พระทวีประชาชน (อี๊ กรรณสูต) เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2456


suphan009 

แบบร่างการบูรณะพระเจดีย์ ครั้งสมัยรัชกาลที่ 6

      รูปทรงเดิมของพระเจดีย์ยุทธหัตถีนั้น เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยมตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐ 3 ชั้น ส่วนยอดพังลงมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้บูรณะหลังจากที่เสด็จ ฯ ไปนมัสการแล้ว โปรดฯ ให้กรมศิลปากรออกแบบ แต่โครงการหยุดชะงักไป และมาเริ่มอีกครั้งในรัชกาลปัจจุบัน พร้อม ๆ กับการก่อสร้างอนุสรณ์ดอนเจดีย์และพระบรมราชานุสาวรีย์ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2494 จนสำเร็จในปี พ.ศ.2500


เมืองยุทธหัตถี
สงครามยุทธหัตถี

suphan010

ภาพขบวนช้างในการศึกในจิตรกรรมฝาผนัง

      การสับประยุทธ์บนหลังช้าง หรือ ยุทธหัตถี นั้น ถือว่าเป็นการศึกที่ยิ่งใหญ่ของชนชั้นปกครองในดินแดนที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากอินเดีย เช่น ลังกา และเอเซียอาคเนย์ ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทั้งในเชิงรบ และการควบคุมสัตว์ขนาดใหญ่ให้อยู่ในอำนาจ เป็นการแสดงถึงความกล้าหาญ ความเป็นผู้นำ และบุญญาธิการแห่งกษัตริย์ ประวัติการสู้รบบนหลังช้างที่เก่าที่สุด คือ การรบระหว่างพระทุฏฐคามมณีอภัย กษัตริย์ลังกา กับพระเจ้าเอฬาทมิฬ กษัตริย์ทมิฬ และพระเจ้าทุฏคามณีอภัยทรงมีชัยชนะ

suphan011
ภาพวาดแสดงการชนช้างสู่รบกันระหว่างเจ้าอ้ายและเจ้ายี่ พ.ศ. 1991

     ส่วนในประวัติศาสตร์ไทย การสงครามด้วยช้างมีหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยสุโขทัย คือครั้งที่พ่อขุนบางกลางหาว ขับไล่ขอมออกจากกรุงสุโขทัย เจ้าศรีศรัทธาจุฬามณี สู้รบกับขุนจังและท้าวอีจาน และครั้งสำคัญในคราวที่พ่อขุนรามคำแหง ทรงชนช้างชนะกับพ่อขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด

suphan013
ภาพแสดงการฝึกช้าง

    ในสมัยอยุธยาครั้งที่เข้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระราชโอรสในสมเด็จพระนครินทราธิราช ชนช้างสู้รบกันเพื่อชิงราชสมบัติ และสิ้นพระชนม์บนคอช้างทั้งสองพระองค์ ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระอินทรราชาพระราชโอรสทรงชนช้างกับหมื่นนคร เมื่อ พ.ศ. 2006 คราวสงครามกับพม่า ในปี พ.ศ. 2091 ระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าแปร ซึ่งในครั้งนั้นสมเด็จพระสุริโยทัยปลอมองค์เป็นชายทรงเข้าช่วยพระสวามีและสิ้นพระชนม์บนคอช้าง และครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2135 ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งหงสาวดี และพระเอกาทศรถกับเจ้าเมืองจาปะโร

suphan012
ภาพแสดงการชนช้างระหว่างพ่อขุนรามคำแหงกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด