เรารักสุพรรณ สถานที่ท่องเที่ยวสุพรรณบุรี

วัดไชนาวาส ตั้งอยู่ที่ ๒๑๙ ถ.ประชาธิปไตย ต.ท่าพี่เลี้ยง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี วัดไชนาวาสเป็นวัดที่สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย อาณาเขตปริมณฑลวัดมีเนื้อที่ ๓๓ ไร่ ๘๘ ตารางวา โดยทางทิศเหนือ มีอาณาเขตติดกับโรงเรียนสหวิทย์พณิชยการ ทิศใต้ติดชุมชนชาวบ้าน ทิศตะวันออกติดโรงเรียนเทศบาล ๓ วัดไชนาวาส ทิศตะวันตกติดแม่น้ำท่าจีน

     วัดไชนาวาส แต่เดิมชื่อว่า "วัดชายนา" เพราะสมัยก่อนอยู่ห่างจากบ้านเรือนออกไปทางชายนา แต่ในปัจจุบัน ความเจริญครอบคลุมเข้ามาถึงตัววัด จนกลายเป็นว่าวัดไชนาวาสอยู่ท่ามกลางชุมชนของชาวบ้าน ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อจาก วัดชายนา มาเป็น "วัดไชนาวาส" ซึ่งคำว่า "ชายนา" ก็มีความพ้องเสียงกับคำว่า "ไชนา" นั่นเอง 

     วัดไชนาวาส สุพรรณบุรี สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด แต่พิจารณาจากปูชนียวัตถุที่เหลืออยู่ในวัด เข้าใจว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป วัดไชนาวาสได้กลายเป็นวัดร้างเป็นเวลานาน ซากปูชนียวัตถุที่ชำรุดหักพัง เช่น อุโบสถ วิหาร และเจดีย์ ล้วนถูกปกคลุมไปด้วยป่าไม้

วัดไชนาวาส อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

     ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๙๔ มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อพระภิกษุพูน ได้เข้าจำพรรษา ณ. วัดร้างนี้ และได้ร่วมแรงร่วมใจกับชาวบ้านทำการถากถางป่าบูรณะ ปรับปรุงให้เป็นวัดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยได้ก่อสร้างกุฏิที่พักสงฆ์ขึ้นอย่างง่ายๆ พอพักอาศัยจำพรรษาได้ สำหรับอุโบสถที่ชำรุดหักพังนั้น ยังมีพระประธานเหลืออยู่ จึงได้ทำการซ่อมแซม และจัดทำหลังคาชั่วคราวขึ้น จนสามารถประกอบสังฆกรรมได้ หลังจากที่พระภิกษุพูนได้มรณะภาพไปแล้ว เจ้าอาวาสในลำดับต่อมาก็ได้บูรณะปรับปรุงถาวรวัตถุเพิ่มเติมตลอดมา

วัดไชนาวาส อ.เมือง จ.สุพรรณบุรีวัดไชนาวาส อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

ในยุคของหลวงพ่อท้วม

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๖ พระภิกษุท้วม (พระครูสมณการพิศิฐ หรือหลวงพ่อท้วม) เป็นเจ้าอาวาสวัดไชนาวาส จึงได้ทำการบูรณะปรับปรุงวัดอย่างจริงจัง และ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญยิ่ง เพราะวัดไชนาวาส ได้รับทั้งการบริจาคที่ดินและการก่อสร้างถาวรวัตถุที่สำคัญเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก คือ

พ.ศ. ๒๔๖๗ สร้างอุโบสถขึ้นใหม่โดยสร้างทับลงบนสถานที่ของอุโบสถเดิม
พ.ศ. ๒๔๖๘ สร้างวิหารขึ้นใหม่โดยสร้างทับลงบนสถานที่ของวิหารเดิมเช่นเดียวกับอุโบสถ
พ.ศ. ๒๔๖๙ -
พ.ศ. ๒๔๗๙
ก่อสร้างกุฏิที่พักสงฆ์อย่างมั่นคงถาวร และเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมกุฏิสงฆ์ประมาณ ๑๘ หลัง
พ.ศ. ๒๔๘๐ สร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ กว้าง ๑๕ วา ยาว ๑๙ วา โดยสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง นับเป็นศาลาการเปรียญที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น
พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินจากผู้มีศรัทธาถวายเป็นที่วัดเพิ่มขึ้น ๒ ไร่ ๓ งาน ๒๘ วา
พ.ศ. ๒๔๙๐ ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินจากผู้มีศรัทธาถวายเป็นธรณีสงฆ์เนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๘๔ วา
พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินจากผู้มีศรัทธาถวายเป็นธรณีสงฆ์เนื้อที่ ๔ ไร่ ๒ งาน
พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินจากผู้มีศรัทธาถวายเป็นธรณีสงฆ์เนื้อที่ ๒ ไร่ ๑ งาน
สร้างหอสวดมนต์ขึ้นใหม่มีขนาดกว้าง ๗ วา ยาว ๑๔ วา

หลวงปู่ท้วม วัดไชนาวาส อ.เมือง จ.สุพรรณบุรีมณฑปหลวงพ่อท้วม อดีตเจ้าอาวาส
หลวงปู่ท้วม วัดไชนาวาส อ.เมือง จ.สุพรรณบุรีรูปปั้นหลวงพ่อท้วม อดีตเจ้าอาวาส
หลวงปู่ท้วม วัดไชนาวาส อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
รูปปั้นหลวงพ่อท้วม อดีตเจ้าอาวาส

     เมื่อพระครูสมณการพิศิฐมรณภาพแล้ว เจ้าอาวาสในลำดับต่อมาได้รับบริจาคที่ดินและก่อสร้างถาวรวัตถุเพิ่ม คือ

พ.ศ. ๒๕๐๔ สร้างณาปนสถาน และได้รับบริจาคที่ดินเพิ่มขึ้นจากผู้มีศรัทธาถวายเป็นที่วัดเนื้อที่ ๓ งาน ๖๒ วา
พ.ศ. ๒๕๐๕ สร้างกำแพงคอนกรีตตลอดแนวด้านหน้าวัดยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร

     เนื่องจากสิ่งก่อสร้างของวัดที่ได้ก่อสร้างขึ้นตั้งแต่เดิม ไม่เคยได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์เลยเป็นเวลานาน บรรดาสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่น กุฏิที่พักสงฆ์ก็ดี ศาลาการเปรียญ และหอสวดมนต์ อุโบสถก็ดี ได้ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก ในสมัยที่พระภัทรมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นเจ้าอาวาส ตลอดมาจนถึงสมัย พระสมุหจรูญ รุจิธมโม เป็นเจ้าอาวาส เป็นยุคที่ได้เริ่มทำการบูรณะปฎิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างของวัดอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง คือ 

พ.ศ. ๒๕๑๓ บูรณะปฎิสังขรณ์หอสวดมนต์
พ.ศ. ๒๕๑๔ บูรณะปฎิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ
พ.ศ. ๒๕๑๕ -
พ.ศ. ๒๕๑๙

ในระยะดังกล่าวนี้ต่อเติมซ่อมแซมสาธารณะประโยชน์ต่างๆ เช่น ถมดินบริเวณวัด บูรณะปฎิสังขรณ์และจัดหาผลประโยชน์รายได้เข้าบำรุงวัดดังนี้

๑. บูรณะปฎิสังขรณ์กุฎิทรงไทย และที่พักสงฆ์ที่ชำรุดทรุดโทรมทุกหลัง ให้อยู่ในสภาพดี ตลอดทั้งการเคลื่อนย้ายกุฏิสงฆ์ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามทั้ง ๑๔ หลังจัดให้เข้าระเบียบกับหอสวดมนต์ ทำแอดชานหน้าหอสวดมนต์ บูรณะปฎิสังขรณ์ ฌาปนสถาน ซ่อมโต๊ะหมูทอง โซว์ฟา เก้าอี้

๒. สร้างหอกลอง และหอระฆังขึ้น หน้าหอสวดมนต์ทั้งสองข้าง ข้างละหนึ่งหลัง

๓. สร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ตลอดแนวหน้าศาลาการเปรียญถึงอุโบสถ และจากศาลาการเปรียญไปยังหน้าหอสวดมนต์ ขนาดกว้าง ๕ เมตร และยาวทั้งสิ้น ๑๖๐ เมตร

พ.ศ. ๒๕๒๐

บูรณะปฎิสังขรณ์อุโบสถ และซ่อมแซ่มส่วนต่างๆ ของอุโบสถ

พ.ศ. ๒๕๒๑ – ๒๕๒๗

ในระยะดังกล่าวนี้ได้ก่อสร้าง ซ่อมแซม สาธรณะประโยชน์ต่างๆอาทิเช่น ซ่อมฐานพระประธาน ๒ องค์ในอุโบสถ และสร้างขึ้นใหม่อีก ๑ องค์ เทคอนกรีตรอบอุโบสถ สร้างห้องน้ำ สร้างถนนคอนกรีต ลงลักปิดทองพระประธานในอุโบสถ ถมหินครุกบริเวณหน้าวัด ปราบพื้นที่ให้เสมอ วาดภาพพุทธประวัติ ฝาผนัง ภายในอุโบสถ เป็นต้น

 พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้ทำการก่อสร้าง วิหารประดิษฐ์สถานพระพุทธไชยมงคล (หลวงพ่อโต) หน้าตักกว้าง ๔ เมตร สูง ๘.๐๒ เมตร วิหารหลังนี้กว้าง ๑๓.๗๐ เมตร ยาว ๑๘ เมตร เริ่มสร้างวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๘
 พ.ศ. ๒๕๓๐ ทำการก่อสร้างมณฑปประดิษฐ์สถานรูปหล่อพระครูสมณะการพิสิฐ (หลวงพ่อท้วม) อดีตเจ้าอาวาสวัดไชนาวาสฐานกว้าง ๑๕ เมตร ยาว ๑๕ เมตร ตัวมณทปกว้าง ๓ เมตร ยาว ๙ เมตร สีมุขเป็นกากบาตร เริ่มสร้างวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๐
วัดไชนาวาส อ.เมือง จ.สุพรรณบุรีหอระฆัง มีรูปปั้นครึ่งตัวของนักร้องลูกทุ่งชื่อดังในอดีต "สุรพล สมบัติเจริญ" 
เนื่องจากวัดนี้เป็นที่ทำพิธีฌาปนกิจ สุรพล สมบัติเจริญ
และทางญาติ ๆ ของสุรพล สมบัติเจริญ เป็นผู้สร้างหอระฆังถวาย
 
* ประวัติวัดไชนาวาส เรียบเรียงโดย  พระสุทธิจิตโต (ชูชาติ ฉ่ำสดใส)
** เว็บไซต์เรารักสุพรรณ ได้รับข้อมูลต่าง ๆ ด้วยความอนุเคราะห์จาก หลวงพี่สิทธิ์ วัดไชนาวาส ขอกราบนมัสการครับ

 
ความเห็นของผู้เขียน

     วัดไชนาวาส เป็นวัดที่เก่าแก่มาก ตามประวัติคาดว่าน่าจะสร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดูภายนอกแล้วจะคล้ายกับวัดอื่น ๆ ทั่วไป แต่เมื่อได้ลองเดินเที่ยวชม จะพบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจ และน่าชมหลายอย่าง เช่น พระอุโบสถ ทั้งหลังใหม่ และหลังเก่า วิหารเก่า ซึ่งปกติจะปิดไว้ แต่หากนักท่องเที่ยวต้องการเข้าชม สามารถติดต่อได้ที่หลวงพี่กมล โทร.085-448-9188 และหลวงพี่สิทธิ์ โทร.089-254-2172 และ 089-914-2394 

ที่วัด มี wifi ให้ใช้ได้ฟรีสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้มาทำบุญที่วัดด้วยครับ รหัส wifi มีป้ายบอกไว้ที่วัดครับ

วัดไชนาวาส อ.เมือง จ.สุพรรณบุรีวัดไชนาวาส อ.เมือง จ.สุพรรณบุรีวัดไชนาวาส อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

แผนที่และการเดินทาง

ท่านที่เดินทางมาจากทางกรุงเทพ

1. จากถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี เมื่อท่านมาถึงตัวเมืองสุพรรณบุรี จุดสังเกตแรกที่เด่นชัดคือ ป้ายห้างโรบินสัน ขับตรงไปอีก ประมาณ 1 กิโลเมตร เมื่อเห็นป้ายห้างโลตัส ให้ชิดซ้ายออกทางขนานที่อยู่เลยหน้าห้างโลตัสไปนิดนึง

2. เมื่อออกทางขนานแล้ว วิ่งไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร มีทางแยกซ้าย ให้เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางนี้ ประมาณ 1 กิโลเมตร ผ่านหอนาฬิกา เจอสี่แยกไฟแดง ให้เลี้ยวซ้าย ประมาณ 500 เมตร วัดไชนาวาส จะอยู่ทางซ้ายมือ  สังเกตุเห็นได้ชัดเจน

ท่านที่เดินทางมาจากทางทิศเหนือ (เช่น ชัยนาท)

1. มาตามถนนสุพรรณ-ชัยนาท เมื่อมาถึงตัวเมืองสุพรรณบุรี (สังเกตศูนย์ราชการ) วิ่งเส้นในทางด่วน สังเกตป้ายห้างโลตัส

2. ให้เลี้ยวยูเทิร์นตรงหน้าห้างโลตัส เมื่อเลี้ยวแล้วต้องชิดซ้ายทันที เพื่อออกทางคู่ขนาน 

3. เมื่อออกทางขนานแล้ว วิ่งไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร มีทางแยกซ้าย ให้เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางนี้ ประมาณ 1 กิโลเมตร ผ่านหอนาฬิกา เจอสี่แยกไฟแดง ให้เลี้ยวซ้าย ประมาณ 500 เมตร วัดไชนาวาส จะอยู่ทางซ้ายมือ  สังเกตุเห็นได้ชัดเจน

map watchainawas

 

share now2