ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งแต่เดิมเรียกกันว่า ศาลเทพารักษ์หลักเมือง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพนับถือของชาวจังหวัดสุพรรณบุรีและ ประชาชนทั่วๆไปมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลแล้ว ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ในเขตเมืองโบราณสุพรรณบุรี ถนนมาลัยแมน ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
ตำนานเก่าแก่ของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี
ด้านในกำแพงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ตัวศาลในสมัยเก่ามีลักษณะดังในภาพนี้
บริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรีสมัยเก่า มีประตูทางเข้าและมีกำแพงล้อมรอบ
และบริเวณใกล้เคียงยังไม่มีบ้านผู้คนเป็นเพียงทุ่งโล่งๆ ดังในภาพ.
พระนารายณ์องค์ด้านขวามือ (ที่จริงมี ๒ องค์ในแผ่นดียวกัน อีกองค์หนึ่งคือพระอิศวร) ที่สลักจากแผ่นหินสีเขียว
ภาพนี้ถ่ายจากองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่ที่บูชาภายในศาลเจ้าครั้งดั้งเดิม.
พระนารายณ์สององค์คู่ ประดิษฐานอยู่ในศาลเจ้าพ่อสุพรรณบุรี จนถึงปัจจุบันนี้
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ดั้งเดิมเป็นเรือนทรงไทย ภายในประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์สององค์คู่กัน สลักจากหินสีเขียว สวมหมวกทรงกระบอก เป็นศิลปกรรมในสมัยลพบุรี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พ.ศ. ๒๔๓๕ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จมาตรวจราชการหัวเมืองสุพรรณบุรี และได้เสด็จมาทอดพระเนตรศาลหลักเมืองแห่งนี้ด้วย
พ.ศ. ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ได้เสด็จประพาสต้น ทรงกระทำพลีกรรม ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อเขื่อนรอบเนินศาล และทำชานสำหรับคนบูชา สร้างกำแพงแก้ว ต่อตัวศาลออกมาข้างหน้าเป็นแบบเก๋งจีนอีกด้วย
พ.ศ. ๒๔๗๘ กรมศิลปากรได้ ประกาศ ขึ้นทะเบียนศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ กับเจ้าพระยายมราช ทรงสนพระทัยในการปรับปรุงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนี้เพิ่มเติมขึ้นอีก สร้างกำแพงล้อมเขตเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีประตูเข้าด้านหน้า มีศาลาพักคนบูชา
เจ้าพระยายมราช
พ.ศ. ๒๕๐๗ คณะกรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมืองได้ปรับปรุงซ่อมแซมศาลหลักเมืองใหม่ แต่ยังคงรูปแบบอาคารซึ่งเป็นอาคารทรงไทยไว้ หลังจากนั้นก็มีการซ่อมแซมก่อสร้างปรับปรุงเรื่อยมา
ฯพณฯ ท่าน บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๑ ของประเทศไทย
(ภาพจากงานประเพณีทิ้งกระจาดสุพรรณบุรี ๒๕๕๕)
ต่อมาในภายหลังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองชำรุดทรุดโทรมลงไป นายบรรหาร ศิลปอาชาพร้อมด้วยคณะกรรมการ จึงได้ปรับปรุงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขึ้นมาอีกให้กว้างขึ้น โดยสร้างอาคารแบบจีนคลุมศาลเก่าเอาไว้
เข้าไปภายในศาลด้านหลังในปัจจุบันนี้ จะเห็นเสาค้ำอาคารที่สร้างคลุมศาลหลังเก่าเอาไว้ (ซ้าย)
และมองจากด้านหน้านอกตัวศาลมีลักษณะที่สวยงาม (ขวา)
ในแต่ละวันจะมีประชาชนทั้งไกลและใกล้เข้ามากราบไหว้มากพอสมควร
แต่ถ้าเป็นวันเทศกาลจะมีประชาชนเข้ามาแน่นเป็นพิเศษ.
นายบรรหารและคณะกรรมการ ยังได้ซื้อที่ดินบริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพิ่มอีกจำนวน ๗ ไร่ และทุกๆปีในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ของจีน จะมีงานประเพณี “ทิ้งกระจาด” (หรือ พิธีให้ทาน) ซึ่งจัดกันขึ้นที่สมาคมจีน โดยจะนำสิ่งของต่างๆ และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ มาแจกแก่ผู้ยากจนทั่วไป
ปัจจุบันนอกจากคณะกรรมการศาลเจ้าพ่อหลักเมือง จะคอยดูแลศาลปรับปรุงศาลแล้ว ยังได้ทำการสร้าง อุทยานมังกรสวรรค์ ที่บริเวณปากทางเข้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอย่างสวยงาม เพื่อให้เป็นที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจของชาวสุพรรณบุรีและประชาชนทั่วไปอีกด้วย
กราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ไปชมอุทยานมังกรสวรรค์ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้ๆ กัน.
กราบไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเรียบร้อยแล้ว ที่เดียวกันนี้ยังมีบริเวณอันกว้างใหญ่มีสิ่งก่อสร้างต่างๆ
ที่เรียกว่าอุทธยานมังกรสวรรค์ ซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวให้เดินชมและพักผ่อนด้วย.
อาคารที่เป็นจุดเด่นที่สุด ในบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี
คือ อาคารรูปมังกรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีความยาวถึง ๑๓๕ เมตร สูง๓๕ เมตร กว้าง ๑๘ เมตร
ภายในตัวมังกรนี้เป็นห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ อารยะธรรมของชาวจีน ย้อนหลังไปถึง 5พันปี
ประตูทางเข้าชมนิทัศน์การแสดงประวัติศาสตร์และอารยธรรมของชาวจีน มีประชาชนเข้าชมอย่างเนืองแน่นทุกวัน เฉพาะที่นี่จะมีการเสียค่าเข้าชมและจะมีเป็นรอบๆด้วย ถ้ายังไม่ได้เข้าชมหรือยังไม่ถึงเวลาการแสดง ส่วนใหญ่แล้วจะเข้าไปเดินดูสิ่งต่างๆที่ปลูกสร้างอย่างสวยงามซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน
ในห้องแสดงนั้นจะมีคำอธิบายให้ทราบอย่างละเอียด ตั้งแต่ การกำเหนิด แนวคิด และคติชีวิตของชาวจีน รวมไปถึงประวัติโดยย่อของราชวงศ์ต่างๆของจีน ๓ ภาษา ด้านในสุดของบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ยังมีศาลากลางน้ำ ๗ ชั้น ศาลานี้สูง ๒๗ เมตร กว้าง ๑๔ เมตร ในแต่ละชั้นจะมีเซียนประจำอยู่ เช่น ฮก ลก ซิ่ว , เซียนในวรรณคดีไซอิ๋ว และเจ้าแม่กวนอิมในลักษณะต่างๆ อีกด้วย
ศาลากลางน้ำอยู่ทางด้านในสุดมองเห็นแต่ไกล สูง ๗ ชั้น ในชั้นต่างๆมีรูปปั้นของเทพเจ้าต่างๆ น่าขึ้นไปชมยิ่งนัก
หอกลางน้ำมีอะไรบ้าง มาทั้งทีควรจะเข้าไปและขึ้นไปข้างบน เพราะว่าแต่ละชั้นมีรูปปั้นเทพเจ้าอยู่มากมาย
เข้าไปชั้นล่างของหอสูงก็มีของดีเสียแล้ว
ต่างก็เข้าคิวกัน (ทำเป็นว่า) กอบเงินกอบทองจากเทพเจ้าเต่าทองกันให้เต็มกระเป๋า กลับไปบ้านมีโชคดีร่ำรวยไปตามๆกัน.
เมื่อมองจากชั้นบนของศาลากลางน้ำ จะเห็นทิวทัศน์อันสวยงามดังในภาพ
ภาพด้านขวาเป็นลานจอดรถของศาลเจ้าพ่อแห่งนี้ เป็นลานจอดรถฟรี (ขณะนี้กำลังปรับปรุง)
สำหรับผู้ที่เข้ามากราบไหว้ศาลเจ้าพ่อและมาเที่ยวชมอุทยานมังกรสวรรค์ด้วย
หอระฆังมหามงคล ตั้งอยู่ตรงกลางลานหน้าอาคาร เทียนอันหมิน (เป็นอาคาร ๓ ชั้น)
ระฆังลูกนี้มีชื่อว่าระฆังมหามงคล เป็นระฆังใหญ่มีน้ำหนักมากเกือบ ๓,๐๐๐ กิโล
ประชาชนที่เข้ามาที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองนี้ มักจะมาเคาะระฆังใบนี้เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัวด้วย
ระฆังใหญ่และท่อนไม้สำหรับเคาะระฆัง
อีกมุมหนึ่งของอุทยานมังกรสวรรค์ จังหวัดสุพรรณบุรี
กระถางใหญ่ปักธูปหน้าศาลเจ้าพ่อ
ประตูทางเข้า - ออกศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
แต่ละวันจะมีรถทัวร์มาเป็นหมู่คณะ เดินทางมาจากในที่ไกลๆ เข้ามากราบไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
และชมอุทธยานมังกรสวรรค์ด้วย.
ปัจจุบันศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและอุทยานมังกรสวรรค์ สุพรรณบุรี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนอีกแห่งหนึ่ง ที่กำลังได้รับความนิยมจากประชาชนใกล้ไกลทั่วไป สถานที่แห่งนี้เดินทางไปมาสะดวก เพราะว่าอยู่ใจกลางเมืองสุพรรณบุรีเลยทีเดียว.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 035-521690
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สุพรรณบุรี ต.รั้วใหญ่ อ.เมืองสุพรรณ จ.สุพรรณบุรี ๗๒๐๐๐
แผนที่การเดินทางไปศาลหลักเมืองสุพรรณบุรี และอุทยานมังกรสวรรค์